จักษุแพทย์รัตนิน เตือนอย่ามองข้าม ‘โรคจอประสาทตา’ แนะ 40 ปีขึ้นไปตรวจสุขภาพ ก่อนเกินแก้

จักษุแพทย์รัตนิน เตือนอย่ามองข้าม ‘โรคจอประสาทตา’ แนะ 40 ปีขึ้นไปตรวจสุขภาพ ก่อนเกินแก้

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่มติชนอคาเดมี เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ‘เครือมติชน’ พร้อมด้วยพันธมิตรด้านสุขภาพ นำโดย โรงพยาบาล (รพ.) จักษุ รัตนิน, รพ.ตากสิน สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), CareCover Clinic (แคร์คัฟเวอร์ สหคลินิก), โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมด้วย บริษัท แสนสิริ จํากัด (มหาชน), บริษัท เชฟรอน (ไทย) จํากัด บริษัท ไทยสมายล์บัส จํากัด และบริษัท นิว อาย กรุ๊ป จำกัด, บริษัท อาฟต้า เซอร์วิส แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ผนึกกำลังจัดงาน Healthcare Mini ‘สุขภาพดี ที่ประชาชื่น’ ขึ้นระหว่างวันที่ 30 – 31 มีนาคม เวลา 08.00 – 18.00 น. โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนหลั่งไหลเข้าร่วมตรวจกิจกรรมด้วยสุขภาพอย่างเนืองแน่น

ทั้งนี้ เวลา 15.45 น. ที่เวที Health Talk มีวงเสวนาโรคจอประสาทตา ในแต่ละช่วงวัย โดย นพ.ศีตธัช วงศ์กุลศิริ จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการสาขาน้ำวุ้นตา – จอประสาทตา รพ.จักษุ รัตนิน

นพ.ศีตธัช กล่าวว่า จอประสาทตาเหมือนลูกมะพร้าว วุ้นตาก็เหมือนน้ำมะพร้าวข้างใน ทั้งนี้ จอประสาทตาจะมีการเสื่อมตามวัย แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นทุกคน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

ADVERTISMENT

“เรื่องของน้ำวุ้นตาเสื่อม อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องที่จริงจังมาก แต่อยากให้คน ที่มีอาการไปแพทย์ ถึงแม้ว่าการเสื่อมจะเป็นทุกคน แต่จะมีอยู่ประมาณ ร้อยละ 7-10 ที่อาการเสื่อมอาจจะก่อปัญหาจอตาฉีกขาดได้ อาการวุ้นตาเสื่อมคือ จะเห็นว่ามีหยากไย่ลอยไปลอยมา บางคนก็อาจจะเจอตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งส่วนใหญ่คนกลุ่มนั้น จะเป็นคนสายตาสั้น ถ้าสายตาสั้นมากๆ ก็จะทำให้วุ้นตาเสื่อมได้ง่าย หรือคนที่มีประวัติครอบครัวเป็น ก็จะถ่ายทอดทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ววุ้นตาก็ต้องเสื่อมอย่างแน่นอน ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย“ นพ.ศีตธัช กล่าว

ADVERTISMENT

นพ.ศีตธัช กล่าวว่า เมื่อมีอาการข้างต้น ก็ควรไปพบแพทย์ โดยอาการที่บ่งบอกว่าเริ่มเป็นมากขึ้นแล้ว คือ จะเห็นแสงวาบ ถ้ามีอาการนี้ควรจะต้องพบแพทย์ทันที หรือหากอาการมากกว่านั้น ก็คือจะมีลักษณะคล้ายม่านมาบังตา ถือเป็นโรคอีกขั้นหนึ่งหลังจากที่วุ้นตาเสื่อม ซึ่งอาการที่เพิ่มขึ้น ถึงขั้นตาบอดได้

”สำหรับร้อยละ 7-10 ที่อาจจะมีปัญหาคือ จะมีการเป็นจอตาฉีกขาดซึ่งอาการเริ่มต้นก็จะมีแสงวาบ เมื่อไปพบแพทย์ จะได้รับการวินิจฉัยว่ามีการฉีกขาดของจอตาหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการฉีกขาด แสดงว่าจอตาลอก และอาจทำให้เป็นตาบอดได้ ซึ่งแม้ว่าโรควุ้นในตาเสื่อมจะเป็นทุกคน แต่ควรจะไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้วินิจฉัยว่าเป็นจอตาฉีกขาด หรือไม่เพื่อป้องกันการตาบอด“ นพ.ศีตธัช กล่าว

นพ.ศีตธัช กล่าวต่อไปว่า ถ้าจอตาฉีกขาดเพียงอย่างเดียวก็สามารถรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ เพื่อฟื้นฟูให้จอตากลับไปสภาพเดิม ซึ่งจอตาฉีกขาดจะไม่ส่งผลให้ตาบอด แต่ถ้าจอตาลอกไปแล้ว วิธีการรักษาก็คือ ต้องผ่าตัดซึ่งมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดใส่แก๊สเข้าไปในดวงตาิเพื่อให้จอตากลับมาเชื่อมกับดวงตา เป็นต้น ในบางรายที่ผ่าตัดแล้ว จอตาลอก ไม่สามารถกลับมาติดกับดวงตาได้ ก็ต้องทำการผ่าตัดใหม่ เพราะสภาพร่างกายบางคนไม่สามารถยึดติดได้ในครั้งเดียว แต่คนส่วนใหญ่สามารถผ่าตัดให้หายภายในครั้งเดียวได้

“แพทย์ที่ผ่าตัดจะรู้ทันทีว่า ดวงตาของใครสามารถผ่าแล้วติดกลับได้ทันที
แต่ในบางคนที่ไม่สามารถผ่าตัดได้สำเร็จภายในรอบเดียว แพทย์ก็จะต้องลองใช้วิธีที่ดีที่สุด และแจ้งกับคนไข้ว่า อาจจะมีโอกาสที่ต้องกลับมาผ่ารอบต่อไป ซึ่งการผ่าตัดจอตาลอก มีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้การมองเห็นแย่ลง“นพ.ศีตธัช กล่าว

ในส่วนของอาการจอตาบางนั้น นพ.ศีตธัช กล่าวว่า เป็นเรื่องของน้ำวุ้นตาที่ติดกับจอตามากเกินไป ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้ว่าคนไข้คนไหนมีความเสี่ยงที่จะเป็นจอตาบาง ถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถป้องกันได้ ในการรักษาทางแพทย์ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก จะมองถึงการป้องกันโดยการยิงเลเซอร์รอบดวงตาไม่ให้จอตาฉีกขาด ส่วนอีกกลุ่ม จะรอให้เกิดอาการก่อน และเมื่อคนไข้มีอาการค่อยมาให้แพทย์วินิจฉัยแล้วจึงทำการรักษาตามอาการ

เมื่อถามถึงโรคเบาหวานขึ้นตา นพ.ศีตธัช กล่าวว่า คือการที่น้ำตาลในหลอดเลือดสูงเกินไป ซึ่งในดวงตาก็จะมีหลอดเลือดคอยหล่อเลี้ยงอยู่เช่นเดียวกัน จึงทำให้ดวงตามีปัญหาด้วยหากน้ำตาลสูง ดังนั้นแพทย์จะต้องให้คนไข้เบาหวานควบคุมน้ำตาล

นพ.ศีตธัช กล่าวถึงโรคจอประสาทเสื่อมว่า จะเกิดจากการที่จุดภาพชัดเริ่มเสื่อม ทำให้มองภาพไม่ชัด ซึ่งอาจจะเกิดกะทันหันก็ได้ หรืออาจจะค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ ซึ่งส่วนมากจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โดยแพทย์จะแนะนำว่าให้เริ่มตรวจจอประสาทตา เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยว่าจอตาเริ่มเสื่อมมากหรือน้อยและให้คำแนะนำว่า ควรพบแพทย์บ่อยแค่ไหน

“การตรวจสุขภาพตาประจำปี จะมีความสำคัญต่อคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปเพราะโรคทางดวงตาบางโรค คนเป็นจะไม่รู้ตัวจนกว่าจะเข้ารับการวินิจฉัย เช่น โรคต้อหิน ซึ่งเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่การไปพบแพทย์จะช่วยควบคุมอาการไม่ให้เป็นมากกว่าเดิม ชะลอไม่ให้รุนแรงถึงขั้นตาบอด ทั้งนี้ โรคทางตามีหลายแบบ การวินิจฉัยจำเป็นให้จักษุแพทย์ตรวจผู้ที่มีอาการโดยตรงเท่านั้น”นพ.ศีตธัช กล่าว

เมื่อถามถึงแสงสีฟ้าทำให้จอตาเสื่อมหรือไม่ นพ.ศีตธัช กล่าวว่า ขณะนี้มีผลการวิจัยในห้องทดลอง ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในคน แต่การสวมแว่นกรองแสงสีฟ้า ในความเป็นจริงมีประโยชน์ในการป้องกันอาการล้าของดวงตา แต่ไม่ได้มีประโยชน์ในแง่ป้องกันจอประสาทตา

“ที่แนะนำกินอาหารเสริมบำรุงสายตา ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะมีงานวิจัยหลายตัวที่ออกมา ยังไม่สามารถระบุได้ว่าทำให้ดวงตาขึ้น คำแนะนำคือถ้ามีปัญหาให้ไปพบจักษุแพทย์จะดีที่สุด ส่วนที่ถามว่าแดดจะมีผลกับจอประสาทตาหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า มี จึงแนะนำให้สวมแว่นตา จะแว่นกันแดด หรือแว่นสายตาก็ได้ เพื่อป้องกันรังสี UV“ นพ.ศีตธัช กล่าวและว่า เพื่อถนอมดวงตา แนะนำให้ใช้อุณหภูมิทั้งประคบร้อน ประคบเย็น เช่น ลดอาการตาล้า ให้ใช้วิธีประคบเย็น แต่ถ้ามีน้ำตาไหล ตาแห้ง ให้ประคบร้อนจะช่วยได้

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเดินทางได้ทั้ง รถไฟฟ้าสายสีแดง (S.R.T.) สถานีวัดเสมียนนารี ทางออก 1 (ต่อวินมอเตอร์ไซค์) หรือใช้บริการรถรับส่งฟรี ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง – มติชนอคาเดมี – รถไฟฟ้าสายสีแดง’ เริ่มตั้งแต่ 07.30 น.เป็นต้นไป ผู้ที่นำรถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัวสามารถจอดได้บริเวณโดยรอบ และพื้นที่ข้างเคียง ทั้งนี้ เนื่องด้วยการจราจรอาจหนาแน่นและสถานที่จอดอาจไม่เพียงพอ แนะนำเดินทางด้วยรถสาธารณะจะดีที่สุด

พบกับ Healthcare Mini ’สุขภาพดี ที่ประชาชื่น’ งานที่จะเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้าถึงบริการ ข้อมูล การดูแล และการรักษา เพื่อเป็นคอมมูนิตี้ของคนที่มีสายตาสุขภาพดี วันอาทิตย์ที่ 30 และวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 เวลา 08.00 – 18.00 น. ณ มติชน อคาเดมี, จตุจักร กรุงเทพฯ งานนี้เข้าฟรีตลอดทั้งงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image