จักษุแพทย์ เผยตาแห้งไม่ได้เกิดจาก ‘แสงสีฟ้า’ แต่เพราะกะพริบตาน้อยจากการจ้องจอนาน เผยอาการ 4 ต้อต้องสังเกตก่อนตาบอด แนะใช้สูตร 20:20:20 ถนอมดวงตา
เมื่อเวลา 12.10 น. วันที่ 31 มีนาคม ที่ มติชนอคาเดมี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ‘เครือมติชน’ พร้อมด้วยพันธมิตรด้านสุขภาพ นำโดย โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน, โรงพยาบาลตากสิน สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), CareCover Clinic (แคร์คัฟเวอร์ สหคลินิก), โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมด้วย บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน), บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด และบริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด และบริษัท นิว อาย กรุ๊ป จำกัด, บริษัท อาฟต้า เซอร์วิส แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ผนึกกำลังจัดงาน Healthcare Mini ‘สุขภาพดี ที่ประชาชื่น’ ขึ้นระหว่างวันที่ 30 – 31 มีนาคม เวลา 08.00 – 18.00 น.
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ ประธานวิชาการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในเวที Health Talk ระวัง! โรคตายอดฮิตยุคดิจิทัล ว่า ข้อมูลจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าประเทศไทยมีจักษุแพทย์ 2,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก ดังนั้นเมื่อสมัยก่อนเวลามีปัญหาที่เกี่ยวกับโรคตา คนมักจะเข้าถึงการรักษาได้ช้า แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่เข้ามาช่วยเพิ่มการเข้าถึงมากขึ้น ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาตาแห้งมากยิ่งขึ้น ทำให้คนต้องใช้น้ำตาเทียมมากขึ้น ติดท็อป 5 ของยาขายดีในร้านขายยา แต่หลายคนเข้าใจผิดว่าตาแห้งเกิดจากแสงสีฟ้าในจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แต่สาเหตุที่แท้จริงคือ การกะพริบตาที่ลดจากปกติที่ควรกะพริบตา 7-8 ครั้งต่อนาที ปัจจุบันเราใช้มือถือมาก จ้องนาน ทำให้กะพริบเหลือไม่ถึง 5 ครั้งต่อนาที ก็มีโอกาสที่น้ำในลูกตาจะแห้ง ทั้งนี้ การหยอดน้ำตาเทียมบ่อย ไม่ถือเป็นอันตราย แต่คำแนะนำคือไม่ควรใช้เกินวันละ 4 ครั้ง
นอกจากนั้น ต้องสร้างสุขลักษณะที่ดีในการใช้คอมพิวเตอร์หรือมือถือ เพื่อป้องกันปัญหาตาแห้ง โดยเลี่ยงการนั่งบริเวณที่มีลมพัดใส่ดวงตา ขอให้กะพริบตาบ่อยขึ้น และสำคัญคือ ควรวางจอให้ต่ำลง เพื่อให้เปลือกตาปิดลง ลดอาการตาแห้งได้ และถ้าระคายเคืองตาให้ลองซื้อน้ำตาเทียมมาหยอดได้ หากไม่หาย ใช้แล้วไม่ดีขึ้นต้องไปหาหมอเพื่อตรวจหาต้นเหตุ ซึ่งความอันตรายของอาการตาแห้งคือ กระจกตาอักเสบ หรืออาจติดเชื้อที่กระจกตาได้
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า โรคต้อเป็นอีกภาวะที่ต้องให้ความสำคัญเพราะเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้ตาบอด โดยแบ่งเป็น 4 ชนิด คือ ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก และต้อหิน ที่เรียงลำดับตามความรุนแรง เริ่มต้นจาก 1.ต้อลม สาเหตุเกิดจากการที่ดวงตาโต้ลมมากๆ ส่งผลให้เยื่อตาขาวหนาขึ้น ทำให้ตาไม่สวย ตาขาวเป็นจุดด่างดำ เป็นภาวะที่ไม่อันตราย และคนไทยเกิน 70% เป็นต้อลม ต่อมา 2.ต้อเนื้อ เกิดจากการที่เป็นต้อลมมานาน ความหนาของเยื่อตาขาวเข้าไปสู่ตาดำ ไม่ได้ทำให้ตาบอดแต่ทำให้เสียความมั่นใจ ตาขาวจะดูมีสีแดงเรื่อๆ เหมือนคนไม่ได้นอน และทำให้เคืองตาบ่อย ถัดมาคือ 3.ต้อกระจก เกิดจากเลนส์ตาที่หมดอายุการใช้งาน โดยทั่วไปจะนึกถึงผู้สูงอายุ ที่เลนส์ตาเริ่มขุ่นทำให้เหมือนมองผ่านกระจกฝ้า ภาพเหมือนมีหมอก พบมากในผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นเกือบทุกคน หากเกิดเยอะจำเป็นต้องสลายต้อ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกว่ามีผลกระทบต่อชีวิต ก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียง จากนั้นก็เปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม ที่มีอายุอยู่ได้ถึงร้อยปี อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เร่งให้เกิดต้อกระจกเร็วคือ การคุมโรคเบาหวานได้ไม่ดี รวมถึงการใช้ยาสเตียรอยด์ และการโดนแสง UV มากๆ
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สุดท้าย 4.ต้อหิน ก่อให้เกิดตาบอดชนิดที่เอาคืนไม่ได้ บอดสนิท พบมากในผู้สูงอายุ มักจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัด สาเหตุเกิดจากความดันในลูกตาเปลี่ยนไป จนส่งผลให้ขั้นประสาทตาเสีย ทำให้ลูกตามีลักษณะแข็งเหมือนหิน โรคนี้แม้ว่ารักษาไม่ได้ แต่การรักษาที่ดีที่สุดคือ ถ้ารู้ว่าสงสัยว่าเป็นให้รีบไปพบแพทย์ พยายามหยุดความเสียหายไว้ และเมื่อได้รับการรักษาแล้ว ต้องเข้าพบแพทย์ตามนัดอย่างเสมอและใช้ยาตามที่หมอแนะนำ โดยคำแนะนำคือให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ควรไปวัดความดันลูกตาทุกปี
“ในปัจจุบัน มีการดูแลรักษา ชะลอตาเสื่อมด้วยสูตร 20:20:20 คือ ทุกๆ 20 นาทีที่ใช้สายตา ควรใช้เวลา 20 นาทีในการพักสายตา ด้วยการมองออกไปไกลๆ ประมาณ 20 ฟุต เพื่อให้ผ่อนคลายตา ส่วนเรื่องการใช้วิตามินเสริมนั้น นอกจากไม่ป้องกันแล้วยังเสียเงินด้วย เพราะ จริงๆ แล้ววิตามินที่ให้ประโยชน์กับดวงตา คือ วิตามินเอ สามารถหาได้จากผักและผลไม้สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และแม้ว่าวิตามินเอสำคัญ แต่ร่างกายต้องการน้อยมาก ทำให้ปัจจุบันคนไทยไม่เกิดโรคขาดวิตามินเอ ดังนั้น เพียงเราทานอาหารที่เหมาะสมกับทำให้ได้รับวิตามินเออย่างเพียงพอแล้ว” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางได้ทั้ง รถไฟฟ้าสายสีแดง (S.R.T.) สถานีวัดเสมียนนารี ทางออก 1 (ต่อวินมอเตอร์ไซค์) หรือใช้บริการรถรับส่งฟรี ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง – มติชนอคาเดมี – รถไฟฟ้าสายสีแดง’ เริ่มตั้งแต่ 07.30 น.เป็นต้นไป ผู้ที่นำรถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัวสามารถจอดได้บริเวณโดยรอบ และพื้นที่ข้างเคียง ทั้งนี้ เนื่องด้วยการจราจรอาจหนาแน่นและสถานที่จอดอาจไม่เพียงพอ แนะนำเดินทางด้วยรถสาธารณะจะดีที่สุด
พบกับ Healthcare Mini ’สุขภาพดี ที่ประชาชื่น’ งานที่จะเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้าถึงบริการ ข้อมูล การดูแล และการรักษา เพื่อเป็นคอมมูนิตี้ของคนที่มีสายตาสุขภาพดี วันอาทิตย์ที่ 30 และวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 เวลา 08.00 – 18.00 น. ณ มติชน อคาเดมี, จตุจักร กรุงเทพฯ งานนี้เข้าฟรีตลอดทั้งงาน