หมอ แนะ ปัญหา ตาเข-สายตาสั้นยาว-หนังตาตก ในเด็ก ต้องรีบแก้ไข ทิ้งไว้นานอาจกลายเป็น โรคตาขี้เกียจ
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 31 มีนาคม ที่ มติชนอคาเดมี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ‘เครือมติชน’ พร้อมด้วยพันธมิตรด้านสุขภาพ นำโดย โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน, โรงพยาบาลตากสิน สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), CareCover Clinic (แคร์คัฟเวอร์ สหคลินิก), โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมด้วย บริษัท แสนสิริ จํากัด (มหาชน), บริษัท เชฟรอน (ไทย) จํากัด และบริษัท ไทยสมายล์บัส จํากัด และบริษัท นิว อาย กรุ๊ป จำกัด, บริษัท อาฟต้า เซอร์วิส แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ผนึกกำลังจัดงาน Healthcare Mini ‘สุขภาพดี ที่ประชาชื่น’ ขึ้นระหว่างวันที่ 30 – 31 มีนาคม เวลา 08.00 – 18.00 น.
พญ.จิภาดา พฤกษาชลวิทย์ จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการสาขาจักษุวิทยาเด็กและกล้ามเนื้อตา โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน เวที Health Talk โรคตาเด็ก ปัญหาเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้าม ว่า สำหรับปัญหาเรื่องสายตาในเด็ก เจอได้ทั้งปัญหาตาเข ตาเหล่ ปัญหาสายตา และปัญหาหนังตาตก เริ่มต้นจากปัญหา 1.สายตาสั้น ยาว และเอียง แต่ในเด็กจะไม่เจอทั้ง 3 แบบพร้อมกัน มักจะเจอแบบคู่ เช่น สั้นเอียง ยาวเอียง ซึ่งปัญหาการมองเห็นในเด็กไม่ใช่เรื่องปกติ และสำคัญคือเด็กมักจะไม่สื่อสารว่าตัวเองมีปัญหาสายตา ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ได้ 2. ภาวะหนังตาตก เด็กๆ หลายคนมีปัญหานี้ตั้งแต่กำเนิด ถ้าสังเกตจากดวงตา จะเห็นชัดว่าหนังตาทั้งสองข้าง ตกไม่เท่ากัน ข้างหนึ่งจะตก อีกข้างหนึ่งจะปกติ หรืออาจจะวัดได้ง่ายๆ จากการถ่ายภาพหน้าตรงด้วยแสงแฟลต ถ้าถ่ายภาพมาแล้ว ไม่เห็นแสงแฟลตสะท้อนในตาดำ ก็มีโอกาสเป็นภาวะหนังตาตกได้ และ 3.ปัญหาตาเข ตาเหล่ ที่เกิดจากกล้ามเนื้อตา แต่ปัจจุบันสามารถรักษาได้ทั้งการใส่แว่นเฉพาะ และการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา ทั้งนี้ ปัญหาสายตาในเด็กที่กล่าวมา จะส่งผลกระทบต่อการเป็นโรคตาขี้เกียจในอนาคตทำให้การมองเห็นภาพลดลง สายตาขี้เกียจมักเกิดในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6-7 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา จะทำให้ตามัว การมองเห็นลดลงอย่างถาวร
พญ.จิภาดา กล่าวต่อว่า สำหรับโรคสายตาที่ต้องเฝ้าระวังในเด็ก คือ มะเร็งจอประสาทตา ส่วนใหญ่จะเกิดในจากพันธุกรรม ดังนั้นหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว ไม่ต้องรอให้เด็กมีอาการควรจะต้องพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อประเมินโดยละเอียด เพราะการตรวจเจอได้เร็ว จะสามารถรักษาได้เร็ว เนื่องจากโรคมะเร็งมีความรุนแรงถึงชีวิต ถ้าปล่อยให้มะเร็งลุกลามก็จะทำให้เด็กเสียชีวิตได้ หรือถ้ามะเร็งก้อนใหญ่แล้วก็อาจจะรักษาลูกตาไว้ไม่ได้ หรือแม้ว่าเจอในตอนที่ก้อนมะเร็งไม่ใหญ่มาก ก็จะรักษาการมองเห็นไว้ไม่ได้ ดังนั้นการไปพบแพทย์เร็วที่สุดยิ่งดี ซึ่งตั้งแต่เด็กเล็กหลักเดือนก็สามารถพบแพทย์ได้แล้ว ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่เคยมีประวัติในครอบครัวก็เกิดมะเร็งลูกตาได้ สิ่งที่ต้องสังเกต คือ เมื่อไหร่ที่ตาดำมีจุดขาว ต้องรีบพาไปตรวจ เพราะมะเร็งลูกตาลุกลามเร็ว บางครั้งเป็นหลักวันหลักสัปดาห์ได้
“สำหรับคำถามเรื่องการทำเลสิคในเด็ก หากอายุยังไม่ถึง 20 ปี แพทย์จะไม่แนะนำให้ทำ โดยเฉพาะอายุไม่เกิน 15 ปีไม่ควรทำแน่ๆ เนื่องจากค่าสายตายังไม่คงที่ และถ้าทำไปแล้วอาจจะมีโอกาสทำให้ต้องมาเติมหรือแก้ไขเลสิคในภายหลัง อย่างไรก็ตามค่าสายตามีผลต่อการตัดสินใจในการแก้ปัญหาสายตาด้วย ถ้าสายตาสั้นจนเกินไป กระจกตาหนาไม่พอก็อาจจะไม่สามารถทำเลสิคได้อาจต้องใช้เทคนิคอื่น” พญ.จิภาดา กล่าว
พญ.จิภาดา กล่าวว่า ขอแนะนำผู้ปกครองทุกคนว่าควรให้ความสำคัญกับสายตาของเด็กๆ ควรจะตรวจสุขภาพดวงตาในทุกปี ซึ่งสามารถตรวจได้ตั้งแต่แรกคลอด และก่อนเข้าชั้นอนุบาลก็เริ่มตรวจในทุกๆ ปี เพื่อป้องกันปัญหาสายตาในระยะยาว
ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางได้ทั้ง รถไฟฟ้าสายสีแดง (S.R.T.) สถานีวัดเสมียนนารี ทางออก 1 (ต่อวินมอเตอร์ไซค์) หรือใช้บริการรถรับส่งฟรี ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง – มติชนอคาเดมี – รถไฟฟ้าสายสีแดง’ เริ่มตั้งแต่ 07.30 น.เป็นต้นไป ผู้ที่นำรถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัวสามารถจอดได้บริเวณโดยรอบ และพื้นที่ข้างเคียง ทั้งนี้ เนื่องด้วยการจราจรอาจหนาแน่นและสถานที่จอดอาจไม่เพียงพอ แนะนำเดินทางด้วยรถสาธารณะจะดีที่สุด
พบกับ Healthcare Mini ’สุขภาพดี ที่ประชาชื่น’ งานที่จะเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้าถึงบริการ ข้อมูล การดูแล และการรักษา เพื่อเป็นคอมมูนิตี้ของคนที่มีสายตาสุขภาพดี วันอาทิตย์ที่ 30 และวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 เวลา 08.00 – 18.00 น. ณ มติชน อคาเดมี, จตุจักร กรุงเทพฯ งานนี้เข้าฟรีตลอดทั้งงาน