พิพัฒน์ ตั้งศูนย์ช่วยเหลือฯ แรงงานตึกสตง.ถล่ม พร้อมประสานล่ามติดต่อญาติ
เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 31 มีนาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่และตั้งศูนย์ประสานและให้ความช่วยเหลือแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวของกระทรวงแรงงาน ที่บริเวณเขตก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานลงพื้นที่ตั้งแต่เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ รู้สึกเป็นกังวล จึงต้องลงพื้นที่จริงเพื่อดูความเดือดร้อน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ซึ่งจากการรายงานล่าสุดผู้เสียชีวิต 18 ราย อยู่ในระบบประกันสังคม 10 ราย อีก 8 ราย อยู่ในระหว่างการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 30 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่บาดเจ็บสาหัส 11 คน
“ทางกระทรวงได้ดำเนินการตรวจสอบสถานะของผู้ได้รับผลกระทบและหารือกับผู้รับเหมาเพื่อพิจารณาสิทธิประโยชน์ตามกองทุนประกันสังคม หากผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของประกันสังคม ก็จะได้รับการเยียวยาตามสิทธิกองทุนประกันสังคมโดยได้รับการชดเชยเป็นเงินสูงสุดประมาณ 2 ล้านบาทต่อราย ส่วนกรณีของผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม บริษัทผู้รับเหมาจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และขอให้นำรายชื่อว่าได้มาทำงานในไซต์งานหรือไม่ และทางกระทรวงจะช่วยประสานกับบริษัทผู้รับเหมา สิ่งใดที่ทางกระทรวงแรงงานช่วยเหลือได้ก็จะเข้ามาประสานในส่วนที่เกี่ยวข้อง” นายพิพัฒน์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากเมียนมาและกัมพูชา ซึ่งอาจพบอุปสรรคด้านการสื่อสาร โดยกระทรวงแรงงานได้นำล่ามที่เป็นชาวเมียนมา และชาวกัมพูชา เพื่อช่วยประสานญาติๆของแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้เจอ หรือประกาศเป็นบุคคลสูญหายอยู่ เพื่อที่จะได้ประสานความช่วยเหลือและให้บริการ ส่วนแรงงานไทย ทางกระทรวงแรงงานก็พยายามประสานกับญาติของผู้เสียหาย ซึ่งศูนย์ดังกล่าวเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุ รวมถึงสามารถติดต่อได้ผ่านสำนักงานแรงงานจังหวัดและสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานครทั้ง 12 เขต และ 5 เสือแรงงานทุกจังหวัด
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานยังได้ประสานงานกับสถานเอกอัคราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อให้การช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบพร้อมทั้งตรวจสอบสถานะของแรงงานที่อาจสูญหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว
“ทางด้านการตรวจสอบสถานะการจ้างงานของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีแรงงานที่ทำงานผิดกฎหมายหรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบว่ามีแรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือแรงงานสูงอายุที่อาจถูกจ้างงานโดยผิดกฎหมายหรือไม่ หากพบการละเมิดกฎหมายแรงงาน กระทรวงแรงงานยืนยันว่าจะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการทางกฎหมาย” นายพิพัฒน์ กล่าว
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการของบริษัทผู้รับเหมา รวมถึงบริษัทที่เหมาช่วงต่อ ขณะนี้อยู่ในช่วงของการประสานงานเพื่อขอรายชื่อแรงงานทั้งหมดที่ทำงานในไซต์งานดังกล่าว โดยเฉพาะในกรณีของแรงงานที่ได้รับความเสียหาย แต่ยังไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ กระทรวงแรงงานจะดำเนินการประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานและครอบครัวของพวกเขาต่อไป
“กระทรวงแรงงานยืนยันว่าพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ และจะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ครั้งนี้” นายพิพัฒน์ กล่าว
จากนั้น นายพิพัฒน์ ได้ไปเยี่ยมญาติของผู้ที่สูญหายจากเหตุการณ์ อาคาร สตง. ถล่ม โดยได้ยืนยันว่า รัฐบาลไทยได้เร่งค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้สูญหายอย่างเต็มความสามารถ ส่วนในเรื่องของการชดเชยเยียวยานั้น จะเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งกระทรวงแรงงานพร้อมให้การช่วยเหลือแรงงานทุกคน