เครือข่ายองค์กรข้ามชาติฯ จี้ นายก-ก.แรงงาน เร่งตรวจสอบสิทธิลูกจ้าง หาสาเหตุตึกสตง.ถล่ม

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จี้ นายก-ก.แรงงาน เร่งตรวจสอบสิทธิลูกจ้าง ในฐานะผู้ประกัน พร้อมหาสาเหตุตึกสตง.ถล่ม

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกเอกสารถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ขอให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอาคารก่อสร้างของรัฐถล่ม และให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลผลกระทบแรงงานทุกสัญชาติอย่างเร่งด่วน

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ทำให้อาคาร บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนประชาชนทั้งในประเทศเมียนมา และประเทศไทยต้องหนีจากตัวอาคารเพื่อความปลอดภัย

มีประชาชนในประเทศไทยได้รับความเสียหายปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตประมาณ 18 ราย บาดเจ็บ 34 ราย และสูญหาย 78 ราย และประชาชนในประเทศเมียนมา ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,700 คน บาดเจ็บกว่า 3,400 คน และยังมีผู้สูญหายอีกราว 300 คน

ADVERTISMENT

อีกทั้ง มีประชาชนอีกจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่พักอาศัยชั่วคราว เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ขอเสียแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งสองประเทศ

จากการติดตามสถานการณ์ของสมาชิกเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ ซึ่งประกอบไปด้วย องค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนแรงงานข้ามชาติ พบว่า แรงงานในกิจการก่อสร้างได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่กำลังก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้ถล่มลงมา เป็นเหตุให้มีแรงงานบาดเจ็บเสียชีวิตและสูญหาย

ADVERTISMENT

โดยวันเกิดเหตุมีคนงานเข้าทำงาน 401 ราย ทั้งนี้ มีหน่วยงานและองค์กรเอกชนจำนวนมาก ได้ร่วมลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อให้การช่วยเหลือ รวมทั้งสมาชิกของเครือข่ายฯและมีข้อสังเกต ข้อกังวลและข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล และกระทรวงแรงงานในการคุ้มครองแรงงานในฐานะลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อาคารก่อสร้างของสตง.ถล่ม ดังนี้

1.ขอให้กองความปลอดภัยแรงงาน ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ใช้อำนาจตามกฎหมายในการเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงของการถล่มของอาคารก่อสร้างสตง.อย่างจริงจัง อันนำมาสู่การบาดเจ็บ สูญหายและเสียชีวิตของแรงงาน และให้มีการดำเนินคดีอาญาหากพบว่านายจ้างที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการมีการกระทำอันมีลักษณะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554

2.ขอให้กระทรวงแรงงานมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม เร่งตรวจสอบสิทธิของลูกจ้างในฐานะผู้ประกันตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้นายจ้างซึ่งประกอบกิจการก่อสร้าง ที่มีลูกจ้างลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องนำลูกจ้างขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคม และนายจ้างต้องขึ้นทะเบียนในกองทุนเงินทดแทน และหากมีการตรวจสอบพบว่านายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนลูกจ้าง ทั้งสองกองทุน ขอให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินคดีเอาผิดต่อนายจ้างที่จงใจเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้ลูกจ้างทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงกองทุนทั้งสองได้ทันที

3.ในช่วงที่แรงงานต้องหยุดงานลงชั่วคราว ทางกระทรวงแรงงานต้องตรวจสอบว่าลูกจ้างได้รับค่าจ้างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่ ทั้งนี้โครงการก่อสร้างเป็นโครงการที่ผ่านการชนะการประมูลจากรัฐย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าผู้ชนะการประมูลจะมีศักยภาพทางการเงิน ในการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นในโครงการรวมถึงค่าจ้างค่าแรงของแรงงานทุกคน

4.เนื่องจากมีการใช้แรงงานข้ามชาติอยู่จำนวนหนึ่งในโครงการก่อสร้างและแรงงานเหล่านี้อาจจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย หากนายจ้างตัดสินใจเลิกจ้างในขณะที่แรงงานอยู่ในระหว่างการต่อเอกสาร หรือขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ดังนั้น ทางเครือข่ายฯขอเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานเร่งตรวจสอบเอกสารคนงานเพื่อมิให้แรงงานข้ามชาติต้องกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย เช่น อำนวยความสะดวกกรณีต้องเปลี่ยนนายจ้างใหม่

5.ขอให้กระทรวงแรงงานมีมาตรการผ่อนผันในการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานหรือขึ้นทะเบียนกรณีที่แรงงานเอกสารสูญหายหรือไม่มีเอกสารแสดงตน ตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรี

6.เครือข่ายฯ พบว่า มีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในรูปแบบที่ซับซ้อน เนื่องจากมีการใช้ผู้รับเหมารายย่อยลำดับที่ 3-4 จำนวนหนึ่ง ทำให้กระบวนการตรวจสอบเพื่อเยียวยาความเสียหายอาจจะมีอุปสรรคหรือเข้าไม่ถึงการเยียวยา ดังนั้นกระทรวงแรงงานต้องเรียกร้องให้บริษัทที่ชนะโครงการประมูลรับผิดชอบโดยทันที

7.เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยให้มีการตรวจสอบกรณีบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลจากโครงการทั้งของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีมูลค่าที่สูง จะต้องมีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อประกันว่า โครงการเหล่านั้นจะก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ลูกจ้างในโครงการและสิ่งแวดล้อม อันเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนตามเจตจำนงค์ของรัฐอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image