สธ.รายงานฉบับ 3 ปิด ‘ตึกทศมินราธิราช’ รพ.ราชวิถี รอผลประเมินความปลอดภัย
วันนี้ (1 เมษายน 2568) ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหว (EOC) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บกรณีเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ฉบับที่ 3 ว่า จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขฯ มีอธิบดีกรมการแพทย์เป็นประธาน ในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อวางแผนและติดตามการทำงานในด้านต่างๆ
โดยสรุปดังนี้ รัฐมนตรีว่าการ สธ. กำชับติดตามการดำเนินการเกี่ยวกับความปลอดภัยโครงสร้างอาคารสถานพยาบาลของหน่วยงานสังกัดกรมการแพทย์ กรมการแพทย์มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ประเมิน และให้ข้อเสนอแนะ การปรับปรุงซ่อมแซมอาคารทศมินราธิราช โรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี จากเหตุแผ่นดินไหว โดยอธิบดีกรมการแพทย์ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 ซึ่งมีการประชุมคณะกรรมการ วันที่ 31 มีนาคม เวลา 09.30 น. และมีมติให้ปิดการใช้บริการในตึกชั่วคราวจนกว่าจะทราบผลการประเมินอย่างละเอียด
นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสำรวจประเมินอาคาร ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ กรมโยธาธิการและผังเมือง กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารทศมินทราธิราช และผู้แทนจาก รพ.ราชวิถี ซึ่งอนุกรรมการฯ ดังกล่าวจะเข้าตรวจประเมิน 2 ครั้ง คือ วันที่ 1 และ 2 เมษายน 2568 โดยอนุกรรมการฯ จะนำข้อมูลเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบฯ ภายในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ การพิจารณาของคณะกรรมการฯ เป็นการหาข้อสรุปว่าจะเปิดบริการบางส่วนหรือยังคงต้องปิดบริการทั้งหมดต่อไป โดยคำนึงถึงการใช้งานในพื้นที่ต่างๆ และ การอพยพในเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ รวมถึงมีการวางแผนเพื่อการซ่อมเสริมกำลังโครงสร้างของอาคาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่บุคลากรและผู้รับบริการ
สำหรับโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ได้มีการให้บริการผู้ป่วยตามปกติในหลายแห่งแล้ว
โดยมีการวางแผนปรับพื้นที่ในโรงพยาบาลเพื่อรองรับการบริการ เพิ่มความสะดวกและลดผลกระทบต่อผู้รับบริการในโรงพยาบาล จึงขอให้ประชาชนที่รับบริการหน่วยงานต่างๆในสังกัดกรมการแพทย์ ติดตามประกาศแนวทางการให้บริการทั้งผู้ป่วยนอก คลินิกพิเศษ หรือการบริการในส่วนต่างๆ ในโรงพยาบาลได้ในเพจเฟซบุ๊ก และสื่อต่างๆ ของโรงพยาบาล ซึ่งจะมีการอัพเดตข้อมูลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้มีการวางแผนร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ มีการแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ อาทิ พื้นที่บริการ ห้องผ่าตัด เครื่องมือแพทย์ บุคลากร โลหิต เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุพื้นที่ตึกถล่มบริเวณบางซื่อ เขตจตุจักร ทีม MERT (Medical Emergency Response Team) กรมการแพทย์และหน่วยงานเครือข่าย โดยมีกรมการแพทย์เป็น Medical Commander ปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรจาก รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี รพ.ราชวิถี 2 รพ.พระมงกุฏเกล้า รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง รพ.รามาธิบดี รพ.ตำรวจ ทีม MMERT รพ.ค่ายสุรนารี ทีมกู้ชีพเอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทีมกู้ชีพ มูลนิธิร่วมกตัญญู ทีม MCATT กรมสุขสุขภาพจิต และทีม MCATT กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
รวมถึงสำนักอนามัย กทม. ดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน ยังคงปฏิบัติงานในที่ตั้งหน่วยแพทย์สนาม (ER สนาม) เพื่อให้การกู้ชีพและกู้ภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักสากล โดยมีการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุให้เร็วที่สุด