สธ.เผย 4 จว.เหนือค่าฝุ่นแดงต่อเนื่อง ‘แม่ฮ่องสอน’ นาน 12 วัน ย้ำ!หน้ากาก งดกิจกรรมกลางแจ้ง
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ว่า ข้อมูล ณ เวลา 07.00 น. วันนี้ (1 เมษายน 2568) มี 20 จังหวัดที่ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐาน โดยอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 37.5-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) 16 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน หนองคาย ลำปาง พะเยา ตาก บึงกาฬ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี แพร่ กาญจนบุรี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ ปราจีนบุรี และพระนครศรีอยุธยา ส่วนระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ 75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป มี 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน 216.12 มคก./ลบ.ม. น่าน 95.93 มคก./ลบ.ม. เชียงใหม่ 92.39 มคก./ลบ.ม. และเชียงราย 82.74 มคก./ลบ.ม. โดยอยู่ในระดับสีแดงต่อเนื่อง คือ เชียงใหม่ 6 วัน เชียงราย 9 วัน น่าน 11 วัน และแม่ฮ่องสอน สูงสุดถึง 12 วัน ในภาพรวมมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) รวม 25 จังหวัด
นพ.วีรวุฒิกล่าวต่อไปว่า จากการคาดการณ์คุณภาพอากาศช่วง 1-2 วันข้างหน้า ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือยังมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนติดตามคุณภาพอากาศและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของระดับค่าสีฝุ่น โดยเฉพาะจังหวัดที่ค่าฝุ่น PM2.5 เป็นสีแดง ขอทุกคนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง/ทำงานที่ใช้แรงมาก สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และอยู่ในห้องปลอดฝุ่น หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ กรณีเป็นผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นติดตัวเสมอ ส่วนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ควรสวมหน้าหน้ากากป้องกันฝุ่นตั้งแต่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีเหลือง (25.1-37.5 มคก./ลบ.ม.) ลดระยะเวลาออกกำลังกายกลางแจ้ง/การทำงานที่ใช้แรงมาก สำหรับการป้องกันตนเองจากฝุ่นให้ปฏิบัติตามแนวทาง “เช็ก-ใช้-เลี่ยง-ลด-ปิด” คือ เช็กค่าฝุ่นจากแอพพลิเคชั่น Air4Thai หรือ Life Dee ก่อนออกจากบ้าน, ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง เช่น หน้ากาก N95 หน้ากากอนามัยทางการแพทย์, เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งและเฝ้าระวังสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง, ลดกิจกรรมก่อฝุ่น เช่น การจุดธูป การปิ้งย่าง การเผา การสูบบุหรี่ รวมถึงตรวจสภาพรถเป็นประจำ และปิดประตู หน้าต่าง ให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาดที่พัก หรือทำห้องปลอดฝุ่น
“ส่วนการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับการดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ขณะนี้ดำเนินการครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งการขยายและยกระดับคลินิกมลพิษและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม ระบบนัดหมายผ่านหมอพร้อม จัดทีมปฏิบัติการดูแลสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชน และการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หน้ากากอนามัย สนับสนุนแล้วมากกว่า 5 ล้านชิ้น มุ้งสู้ฝุ่น 1,394 ชุด นอกจากนี้ ยังจัดบริการห้องปลอดฝุ่น 18,329 ห้อง มีประชาชนเข้าใช้บริการสะสม 427,728 คน” นพ.วีรวุฒิกล่าว