เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ บองมาเช่มาร์เก็ตพาร์ค เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิด “โครงการรับส่งปลอดภัยได้(ใจ)ผู้ใช้บริการ” ภายใต้โครงการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพทุกสิทธิรักษาพยาบาล เพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2568 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ มูลนิธิเส้นด้าย โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย น.ส.อังสณา เนียมวณิชกุล กรรมการบริหารมูลนิธิเส้นด้าย นายนนทวัฒน์ บุญบา ผู้อำนวยการมูลนิธิเส้นด้าย และเจ้าหน้าที่มูลนิธิเส้นด้าย เข้าร่วมในพิธีเปิดโครงการ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีเจตนารมณ์ในการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้ารับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับการดูเลสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางกลุ่มที่ประสบปัญหาการเข้าถึงบริการ เนื่องจากอุปสรรคด้านการเดินทางและค่าพาหนะ ดังนั้นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงเห็นชอบให้บรรจุสิทธิประโยชน์บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพใน 3 กลุ่มครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิรักษาพยาบาล ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยที่เดินทางไปโรงพยาบาลยากลำบากสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
“ผมมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้มาเปิดโครงการรับ-ส่ง ปลอดภัย ได้ (ใจ) ผู้ใช้บริการ ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมบริการสุขภาพตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ของรัฐบาล ภายใต้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยความร่วมมือกับมูลนิธิเส้นด้ายซึ่งเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงในการทำประโยชน์เพื่อสังคม ที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เบื้องต้นนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ กำหนดเป้าหมายให้บริการผู้ป่วยจำนวน 15,440 คน รวมจำนวน 45,045 เที่ยว อัตราชดเชยค่าบริการเที่ยวละ 350 บาท จำนวน 3 ครั้งต่อเดือน ซึ่งมูลนิธิเส้นด้ายได้ร่วมจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพฯ ในโครงการรับ-ส่ง ปลอดภัยได้ (ใจ) ผู้ใช้บริการ เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ภายหลังการเดินหน้าบริการรถรับส่งฯ จนถึงวันที่ 24 มีนาคม มีประชาชนรับบริการรถรับส่งในโครงการฯ นี้แล้ว โดยแจ้งผ่านสายด่วน 1330 จำนวน 809 คน หรือรับบริการขาไปและขากลับจำนวน 1,197 เที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ วันนี้จึงขอประชาสัมพันธ์ประชาชน สามารถติดต่อเพื่อจองคิวบริการรถรับส่งฯ ล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์
ขณะที่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับบริการรถรับส่งฯ มีการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ผลตอบรับค่อนข้างดีมาก แต่ประชาชนยังไม่ทราบถึงบริการดังกล่าว ทำให้การใช้บริการยังไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม สปสช. มีแผนการดำเนินการในระยะถัดไปในจังหวัดอื่นๆ ให้ครบทั้งประเทศ แต่หากเป็นพื้นที่ต่างจังหวัดก็อาจต้องวางระบบใหม่ เนื่องจากการเดินทางไปโรงพยาบาลส่วนใหญ่ต้องข้ามหลายอำเภอ จึงต้องมีการกำหนดเรื่องการจ่ายอัตราชดเชยค่าบริการที่ต่างจากในกรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากมูลนิธิเส้นด้ายแล้ว สปสช. ขอประชาสัมพันธ์ถึงหน่วยงานที่มีจิตสาธารณะสามารถเข้ามาร่วมในโครงการได้เช่นกัน ทั้งนี้ สปสช. พร้อมสนับสนุนต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
ด้าน น.ส.อังสณา กล่าวว่า มูลนิธิเส้นด้ายดำเนินโครงการในการรับ-ส่งผู้ป่วยตามหมายนัดมาตั้งแต่หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 เราเล็งเห็นปัญหาที่กลุ่มเปราะบางในชุมชนจำนวนมากแม้จะมีสิทธิรักษาฟรี แต่ก็ไม่สามารถเข้าใช้บริการได้เนื่องจากไม่มีทุนทรัพย์ในการเดินทาง จนต้องทนเจ็บป่วยที่บ้าน หรือบางรายต้องไปกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายในการรับ-ส่งผู้ป่วย ซึ่งจำนวนของกลุ่มเปราะบางดังกล่าวกำลังเติบโตสูงขึ้นตามอัตราสังคมผู้สูงที่กำลังเติบโตอย่างมากในประเทศไทย โครงการนี้เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง จะไม่มีใครต้องตกหล่นและนอนทนเจ็บป่วยที่บ้านเพราะไม่มีเงินเดินทางไปรักษาอีกต่อไป ขอขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านที่มองเห็นถึงความสำคัญและช่วยขยายผลโครงการเล็กๆ ของเราให้สามารถให้บริการพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมด้วย