จุฬาภรณ์ฯ ร่วมสร้างความรู้ ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ คร่าชีวิตคนเกือบล้าน เผย หุ่นยนต์ผ่าตัด แผลเล็ก-หายขาดได้

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่อาคารกรมพระศรีสวางควัฒน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รศ.พญ.ชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานการเปิดงาน “ลำไส้ใหญ่อยากบอกอะไร เพื่อคนไทย ลำไส้ต้องดี” โดยกล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันการศึกษาวิจัยและสถาบันการแพทย์ มีพันธกิจในด้านบริการวิชาการและวิชาชีพด้านสุขภาพแก่สังคม โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นส่วนงานหลักในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน การจัดงานครั้งนี้ เรามุ่งส่งเสริมความรู้และการดูแลเชิงป้องกัน เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของระบบทางเดินอาหาร สร้างความรู้ในการลด ละ เลิก พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ และร่วมดูแลรักษาสุขภาพในเชิงป้องกัน โดยมุ่งหวังในการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ระบบสุขภาพของประเทศเข้มแข็ง เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีและยั่งยืนต่อไป

นพ.วรวัฒน์ แสงวิภาสนภาพร หัวหน้างานอายุรกรรมทางเดินอาหารและตับ กล่าวว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยมะเร็งใหม่ทั้งหมด และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 จากโรคมะเร็งทั่วโลก ข้อมูลสถิติล่าสุด จาก Globocan 2022 ระบุว่าในปี 2022 มีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ประมาณ 1.93 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 904,000 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 9 ของการตายด้วยโรคมะเร็งทั้งหมด ดังนั้น ในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดขึ้นใหม่เกือบสองล้านรายทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตเกือบหนึ่งล้านรายจากโรคนี้ ซึ่งสะท้อนภาวะโรคที่สูงมากในระดับนานาชาติ สัดส่วนดังกล่าวทำให้มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่วินิจฉัยบ่อยเป็นอันดับ 3 และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของโรคมะเร็งทั่วโลกในปัจจุบัน โดยแนวโน้มของมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั่วโลกแบ่งออกเป็นสองลักษณะ คือ 1.ในประเทศพัฒนาแล้ว แนวโน้มลดลงหรือนิ่งเนื่องจากมาตรการป้องกัน/คัดกรองที่ได้ผล และ 2.ในประเทศกำลังพัฒนา แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการขาดมาตรการคัดกรองที่ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยรวมทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นจากปัจจัยประชากร อนึ่ง การคาดการณ์อนาคตชี้ว่าโรคนี้จะเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ขึ้น เว้นแต่มนุษยชาติจะสามารถปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงและเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองได้อย่างมีนัยสำคัญในทุกภูมิภาค

พญ.ชญานี สำแดงปั้น แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แน่ชัด แต่พบว่าอาจมีปัจจัยมาจากอาหารและสิ่งแวดล้อม โดยการรับประทานอาหารที่ให้พลังงาน ไขมันและน้ำตาลสูง ผู้ที่มีดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 2 คนขึ้นไป เคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ เคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง และการสูบบุหรี่ ทั้งนี้มะเร็งลำไส้ใหญ่อาจไม่มีอาการผิดปกติบ่งชี้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือบางครั้งอาการที่พบอาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการ ท้องเสีย ท้องผูก หรือรู้สึกท้องอืด อุจจาระปนเลือดสดๆ หรือเลือดสีคล้ำมาก ลักษณะอุจจาระมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น เรียวยาวกว่าปกติ หรือเป็นเม็ดๆ หรือการที่น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

พญ.ณัฐภาณี สุขผล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก กล่าวว่า วิธีการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นการผ่าตัดเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มต้น หรือมีการลุกลามเฉพาะที่ หรือในกรณีที่มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น การผ่าตัดก็ยังมีบทบาทในผู้ป่วยบางราย ทั้งนี้ การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ศัลยแพทย์ยังเป็นผู้ที่ทำการผ่าตัดอยู่ แต่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพิ่มเข้ามาช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยที่สามารถกลับมาสู่กิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้นด้วย ทั้งนี้ การเปิดให้บริการทางการแพทย์ด้วยนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด แต่ยังช่วยลดความเจ็บปวดและระยะเวลาการพักรักษาตัวของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นความหวังและกำลังใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งทุกคน

ADVERTISMENT

ด้าน นพ.สพล วิวัฒน์พัฒนกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ระบบทางเดินอาหารและตับ กล่าวถึง ความสำคัญของการดูแลสุขภาพลำไส้และข้อควรปฏิบัติว่า ควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง วันละ 25–38 กรัม จากผัก ผลไม้และธัญพืช เพื่อช่วยลดการอักเสบในลำไส้และทำให้ขับถ่ายดีขึ้น ลดอาหารประเภทเนื้อแดงและอาหารแปรรูป จำกัดเนื้อแดงไม่เกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์ และหลีกเลี่ยงไส้กรอก แฮม เบคอน ฯลฯ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 4–5 วันต่อสัปดาห์ และควบคุมน้ำหนัก BMI ให้อยู่ระหว่าง 18–23  งดการสูบบุหรี่–ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เริ่มแนะนำที่อายุ 50 ปี หรือเร็วกว่านั้นหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีคัดกรองที่เหมาะสม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image