นักวิชาการชี้3รอยเลื่อนกระทบไทย จี้สังคายนา ‘ระบบเตือนภัย’ เซลล์บรอดแคสต์ต้องใช้ได้จริง
วันนี้ (2 เมษายน 2568) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “สังคายนาระบบเตือนภัย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว” โดยมี ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รศ.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมเสวนา
ศ.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ในเมียนมา บางส่วนอยู่ในประเทศไทย โดยรอยเลื่อนที่อยู่ในประเทศไทยค่อนข้างเล็ก มีอัตรการการเร่งตัวต่ำกว่าที่อยู่ในฝั่งเมียนมาที่แนวรอยต่อแผ่นเปลือกโลกระหว่างฝั่งอินเดียและฝั่งไทย ตามแนวทะเลอันดามันไปถึงฝั่งตะวันตกของเมียนมา อย่างไรก็ตาม จากการติดตามและประเมินรอยเลื่อนที่มีผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 3 แหล่ง 1.รอยเลื่อนท จ.กาญจนบุรี อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ส่งผลกระทบถึงกรุงเทพฯ ได้ ก่อนหน้านี้เคยเกิดที่ขนาด 5.9 ส่งผลกระทบต่อกทม. แต่ตอนนั้นมีอาคารสูงไม่มาก 2.รอยเลื่อนสกาย ที่ผ่ากลางเมียนมา จากมัณฑะเลย์ เนปิดอว์ ย่างกุ้ง และ 3.รอยเลื่อนอาระกัน ซึ่งเป็นการมุดตัวของแผ่นเปลือกที่อยู่ฝั่งตะวันตกเมียนมา สามารถเกิดแผ่นดินไหวระดับเกิน 8.5 โดยครั้งล่าสุดเกิดเมื่อประมาณ 260 ปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อดูจากสถิติแผ่นดินไหวใหญ่จะเกิดห่างกันโดยแฉลี่ย 400-500 ปี ดังนั้น เมื่อเกิดมาแล้ว 260 ปี อาจจะมีการสะสมพลังงาน แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะระเบิดในเร็ววัน หรืออาจจะเร็วขึ้นกว่า 400 ปีหรือ อาจจะนาน 700 ปี ก็ยังไม่เกิดได้ แต่เมื่อรอยเลื่อนนี้เกิดแผ่นดินไหว ก็จะมีผลกระทบต่อกรุงเทพฯ
ศ.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อดูที่สภาพดินของกรุงเทพฯ มีลักษณะพิเศษแอ่งดินอ่อนขนาดยักษ์ที่สามารถขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ 3-4 เท่าตัว เช่นแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นคลื่นความถี่ต่ำ สั่นจังหวะช้าๆ จะไม่ค่อยส่งผลต่ออาคารขนาดเล็ก เพราะจังหวะการโยกไม่ตรงกัน แต่อาคารสูงที่โยกตัวเข้าจังหวะเข้ากับพื้นดินในจังหวะช้าๆ จังหวะตรงกันก็จะขยายความรุนแรงและส่งผลกระทบรุนแรงกับอาคารสูงมาก ซึ่งผลการสำรวจตามหลังก็ชี้ชัดว่า อาคารเล็กไม่มีผลกระทบเท่าไร แต่อาคารสูงค่อนข้างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า และมีอาคารถล่มร้ายแรงคือ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
“และมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศติดต่อมายังตน พร้อมให้ข้อมูลน่าสนใจว่า นี่เป็นแผ่นดินไหวที่ไกลที่สุดในโลก ที่ทำให้อาคารถล่ม และยังเป็นอาคารที่สูงที่สุดถล่ม นับเป็นสถิติโลกที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีกฎหมายกำหนดตั้งแต่ปี 2550 ว่า อาคารสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องออกแบบให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้กำหนดเส้นกราฟการสั่นไหวรุนแรงที่ต้องรับให้ได้ ซึ่งจริงๆ โอกาสจะเกิดแผ่นดินไหวน้อยมากเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องออกแบบเผื่อเอาไว้ โดยแบ่งกรุงเทพฯ เป็น 10 พื้นที่ ที่สำคัญที่สุดคือ หมายเลข 5 คือ บริเวณกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี และมีการตั้งสถานีวัดระดับความรุนแรงไว้ 5 จุด ที่ได้ข้อมูลมาแล้ว 2 จุด คือ ที่สถาบันพระจอมเกล้าธนบุรี และ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คำนวณแล้ว พบว่าแรงสั่นสะเทือนที่กรุงเทพฯ อยู่ในระดับ 1 ใน 3 ของแรงสั่นสะเทือนที่กำหนดเป็นมาตรการฐานก่อสร้างอาคารสูง เพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว และเน้นที่โครงสร้างเสาต้องไม่พัง กำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กต้องไม่เสียหาย สลักต้องไม่แยกจากเสา ตัวพื้นต้องไม่แยกออกมา เป็นต้น ส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างก็ไม่ได้เน้น เช่น กำแพงกั้นห้อง ฝ้า เพดาน ระบบท่อน้ำท่อประปา จึงมีโอกาสได้รับความเสียหายได้ อย่างไรก็ตามต้องไปตรวจสอบดูอีกครั้งว่า มีการออกแบบดีจริงหรือไม่มีอะไรผิดพลาดหรือไม่” ศ.เป็นหนึ่ง กล่าว
นอกจากนี้ ศ.เป็นหนึ่ง กล่าวอีกว่า เราควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรอยเลื่อนที่จะส่งผลกระทบ มีการจัดสรรงบประมาณมากกว่านี้ และควรเข้าไปตรวจสอบ และเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาคาร ที่มีความอ่อนไหว เสียงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอาคารเรียนหลายแห่งใน จ.เชียงราย ซึ่งจากข้อมูล เพราะว่า การเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาคารเดิม จะใช้งบประมาณประมาณร้อยละ 10-20 ของงบก่อสร้างอาคารใหม่
“อย่างไรก็ตาม เรามีงานวิจัย ทดลองติดตั้งอุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือนบนอาคารสูง โดยติดตั้งที่อาคารโรงพยาบาล (รพ.) เชียงใหม่ และ รพ.เชียงราย เพื่อประเมินความปลอดภัยของอาคารและแจ้งต่อผู้ใช้อาคาร ในเวลาสั้นๆ 5 นาที ว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไร ตำแหน่งไหนอันตราย และยังขยายการทดลองไปที่ รพ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ส่วนที่กรุงเทพฯ เตรียม ทดลองติดตั้งที่ รพ.กลาง ทั้งนี้ หากมีหน่วยงานใด ต้องการที่จะติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวทีมวิจัยของเรายินดีให้คำปรึกษา” ศ.เป็นหนึ่ง กล่าว
รศ.เสรี กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ว่า ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์ ด้วยความเร็วคลื่นแผ่นดินไหวที่เร็วกว่าเสียง และน้อยกว่าแสง จึงมีเวลา 7 นาที ก่อนมาถึงกรุงเทพฯ แต่ระบบการเตือนภัยของประเทศไทยล่าช้า และไม่ครอบคลุม เนื่องจากส่งผ่านระบบ SMS ที่มีข้อจำกัดส่งได้เพียง 2 แสนเลขหมาย ทั้งๆ ที่หากเตือนได้เร็วจะช่วยลดความสูญเสียได้
“เมื่อดูไทม์ไลน์ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว 13.20 น. เวลาประเทศไทย อาคารพังถล่ม ในเวลา 13.26 -13.27 น. หรือประมาณ 7 นาที กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งศูนย์เตือนภัยฯ ประกาศ ในเว็บเตือนภัยเวลา 13.36 น.ซึ่งตึกถล่มแล้ว คนเสียชีวิตแล้ว มี SMS เฉพาะหน่วย ส่งผู้ว่าราชการจังหวัด ปภ.จังหวัด ผู้บริหารทั้งหมดเวลา 14.30 น. แจ้งกับประชาชนทั่วไปโดยส่ง SMS ให้กับ กสทช. เมื่อดูเวลาแล้วล่าช้ามาจากจุดเริ่มต้น เวลา 13.36 น.ดังนั้น การทำงานแบบอนุกรมต่อกันไม่เวิร์ก ทันทีที่เกิดเหตุควรมีระบบแจ้งต่อประชาชนทันที” รศ.เสรี กล่าว
ทั้งนี้ รศ.เสรี กล่าวว่า ดังนั้น ต้องมีการปรับระบบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ปรับปรุงทำเป็นระบบเซลล์บรอดแคสต์ ซึ่งจะส่งข้อความแจ้งเตือนผู้ที่อยู่ในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 1 นาที หรือระดับวินาที ซึ่งจะสามารถใช้ได้เดือนกรกฎาคมนี้ ดังนั้น จึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดในการจัดทำระบบเซลล์บรอดแคสต์ให้ออกมาใช้ได้จริง เพราะมีองคาพยพที่ทำเรื่องนี้หลายหน่วยงาน แต่ปัจจุบันก็คุยกันถึงการลดขั้นตอนการขออนุญาตผู้บริหาร ทั้งนี้ ระหว่างนี้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินให้ใช้ระบบการแจ้งผ่าน SMS ทันที โดยไม่ต้องผ่าน กสทช. รวมถึงช่องทางการแจ้งเตือนผ่านสถานีโทรทัศน์ วิทยุ และโซเชียลมีเดียไปก่อน
ด้าน นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเกิดภัยพิบัติมาหลายครั้ง สภาองค์กรผู้บริโภค จึงส่งหนังสือถึงกระ ทรวงมหาดไทย (มท.) ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อขอตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ และเรียกร้องเกี่ยวกับระบบการเตือนภัย รวมถึงที่ผ่านมา ประชาชนก็เรียกร้องให้มีระบบเซลล์บรอดแคสต์แล้ว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีส่งสารผ่านเสาสัญญาณโทรคมนาคมให้กับผู้ที่อยู่บริเวณนั้นทั้งหมด ซึ่งสภาองค์กรผู้บริโภคตามเรื่องนี้ และกระทุ้งไปที่รัฐมนตรีว่าการ มท. ตั้งแต่ปี 2566 หลังเกิดเหตุการณ์เยาวชนก่อเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน ได้รับการตอบกลับวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ว่า มท.โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีการจัดทำโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีความเห็นชอบ ของคณะกรรมการบริหารระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้ของบอร์ดใหญ่ของกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2565 โดยได้รับงบประมาณ เป็นรายจ่ายประจำปี 2567 ผูกพันปีงบฯ 2568
“แต่จากแถลงของนายกฯ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องพบว่ามีการใช้งบไม่ได้เป็นไปตามเอกสารตัวนี้ แต่มีการใช้งบกองทุนยูโซ่ของ กสทช. ที่เรียกเก็บจากใบอนุญาตจำนวนประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็นอย่างต่ำ เรื่องนี้ต้องติดตามและสอบถามข้อเท็จจริงต่อไป และเรียกร้องทำระบบให้เร็วกว่านี้ และต้องทำระบบสั่งการที่มีความเป็นเอกภาพ การสื่อสารให้มีความชัดเจนครอบคลุมคนมีปัญหาการได้ยินเสียง ปัญหาสายตา” นายอิฐบูรณ์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ อย่าโยนภาระทั้งหมดมาที่ประชาชน โดยบอกว่า ประชาชนต้องมีความรู้เท่าทันอย่างเดียว แน่นอนว่าตรงนี้ ประชาชนก็ต้องทำ แต่รัฐก็ต้องมีการจัดทำชุดความรู้ในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องสำหรับประชาชนด้วย ถึงจะมาบอกว่าประชาชนต้องมีความรู้ความเท่าทัน แต่คำถาม คือ มีชุดข้อมูลเหล่านี้ออกมาหรือไม่ และย้ำว่า เรื่องภัยพิบัติต่างๆ อย่าเอาการเมืองมาวาง อะไรที่เป็นตำแหน่งหน้าที่ที่วางไว้ ก็ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบ เช่น เปิดข้อมูลแจ้งเตือนภัยผิดพลาด ก็ต้องขอโทษตรงนี้ ซึ่งไม่มีใครไปโจมตี เนื่องจากแจ้งเตือนดีกว่าไม่แจ้ง แต่ในสังคมวันนี้ สอนให้คนกลัวจนไม่กล้าทำหน้าที่ในระบบราชการที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ แล้วปล่อยให้เป็นภาระของประชาชนที่จะเอาตัวรอดด้วยตัวเองโดยวาทกรรมว่า ประชาชนต้องมีความรู้เพิ่มขึ้น ต้องมีความรู้เท่าทัน คำถามง่ายๆ แล้วเราจะมีรัฐบาลและกลไกพวกนี้เอาไว้เพื่ออะไร

รศ.คมสัน กล่าวว่า นอกจากการส่งสัญญาหรือส่งข้อมูลเพื่อให้เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังแล้ว ต้องมีระบบในเรื่องของการจัดการที่ดีแล้ว ขบวนการหลังจากมีภัยขึ้นมาแล้วต้องมีการดูแลจัดการความวิตกกังวลของคน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของภาครัฐ เช่น การจัดให้มีการตรวจสอบ เพราะทุกคนรู้สึกกังวล เนื่องจากไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ในการที่เกิดขึ้นที่เมียนมาห่างจากประเทศไทยมาก ผลกระทบน้อย แต่ผลกระทบทางด้านความรู้สึกของคนมหาศาล โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการอพยพ ทุกอย่างช็อตไปหมด เช่น ขนส่งสาธารณะ เป็นต้น ถ้าเทียบกับญี่ปุ่นเขาจะไม่การฝึกคนตั้งแต่เด็ก ในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ทำให้ถึงประเทศญี่ปุ่นอยู่ในวงแหวนแห่งไฟมีการเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง แต่เขารู้วิธีปฏิบัติตนและอยู่ได้ ส่วนประเทศไทยถ้ามีการเตือนภัยที่ดี แต่คนยังไม่รู้วิธีปฏิบัติ ก็จะทำให้ความตื่นตระหนกเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นนอกจากตื่นตัวปรับปรุงระบบเตือนภัยแล้ว จะต้องมีกระบวนการเรียนรู้และฝึกให้ทุกคนรับรู้และปฏิบัติตัว ต่อสถานการณ์ภัยพิบัติทุกรูปแบบ ไปพร้อมๆ กันด้วย