‘พิพัฒน์’ กำชับ กสร.เข้มมาตรการความปลอดภัยแรงงาน ย้ำ! 5 กฎเหล็กกันอุบัติเหตุซ้ำรอย
วันนี้ (2 เมษายน 2568) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสำหรับกิจการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ร.อ. สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เจ้าของโครงการก่อสร้าง ผู้รับเหมา รวมทั้งหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัยในงานก่อสร้าง เข้าร่วม ที่กระทรวงแรงงาน
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การประชุมสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์อุบัติเหตเครนถล่มบนถนนพระราม 2 จีงได้มีการเตรียมการโดยให้ กสร. เชิญหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้ประกอบการ ที่รับผิดชอบเข้ามาหารือ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เกิดความสูญเสียมีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บกว่า 30 ราย ดังนั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงานตนจึงให้นโยบาย กสร. ในการทำงานเชิงรุกเพื่อหารือภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากมีการจ้างงานและทำสัญญาเกี่ยวกับการก่อสร้างที่มีความเสี่ยง ทาง กสร. จะต้องเข้าไปร่วมเพื่อออกมาตรการดูแลเรื่องความปลอดภัย และ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. จะต้องร่วมติดตามการดำเนินงาน เพื่อ สสปท. จะมีการออกรูปแบบในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในรูปแบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นและเป็นสิ่งที่กระทรวงแรงงานกำลังอยู่ระหว่างการหารือ
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังได้เกิดอุบัติเหตุซ้ำในเรื่องการเกิดเเผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา จึงได้สั่งการเพิ่มเติมเรื่องของการซักซ้อมการป้องกันภัย กรณีการเกิดภัยธรรมชาติ อาทิ สึนามิ และเหตุแผ่นดินไหว รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ พร้อมได้กำชับเพิ่มเติมในเรื่องการใส่ใจดูแลแรงงานต่างๆที่เข้ามาทำงานในไทยว่าได้มีการลงทะเบียนถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และ มาตรา 39 ซึ่งนายจ้างจะต้องแจ้งให้ประกันสังคมทราบ
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ตนยังได้เน้นย้ำในเรื่องของการใช้แรงงานที่เป็นเยาวชน ที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ซึ่งจากเหตุการณ์ตึกถล่ม ได้ทราบคร่าวๆ ว่า มีแรงงานที่อายุไม่ถึง 18 ปี ดังนั้น กระทรวงแรงงานจะเข้าไปสอบสวนว่า มีเยาวชนเข้ามาทำงานไซต์งานก่อสร้างได้อย่างไร และหากพบว่ามีการนำเยาวชนเข้ามาทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฏหมาย กระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการหารือกับเจ้าของบริษัท หรือ ผู้ว่าจ้าง ถึงการนำเยาวชนมาทำงาน เนื่องจากกฏหมายได้ระบุให้ผู้ใช้แรงงานจะต้องมึอายุเกิน 18 ปี
“ทั้งนี้ ในส่วนการจำแนกแรงงานจากเหตุตึกถล่ม เบื้องต้น อยู่ในระหว่างการขอบัญชีรายชื่อจากบริษัทต่างๆ และยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าบัญชีรายชื่อแรงงานที่ทำงานไซต์งานมีกี่ราย อายุเท่าไร เบื้องต้น มีแรงงานไทย เมียนมา และกัมพูชา โดยจะต้องรอเคลียร์พื้นที่พร้อมพิสูจน์อัตลักษณ์ให้เรียบร้อยก่อนจึงจะช่วยเหลือเยียวยาได้และแถลงข่าวอีกครั้ง” นายพิพัฒน์ กล่าว
ด้าน ร.อ. สาโรจน์ กล่าวว่า ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้หน่วยที่เกี่ยวข้องส่งมาตรการในเรื่องของความปลอดภัยให้ กสร.เพื่อประกอบและนำมาวางแผนร่วมกันในเรื่องของความปลอดภัยและชีวอนามัยเพื่อร่วมมือกันป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัย ซึ่งต่อไปจะมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างเจ้าของโครงการและผู้รับเหมา ชั้นต้นและผู้รับเหมาช่วงเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ผ่านมาอีก
“ขณะนี้ ยังได้ดำเนินการกำหนดกฎเหล็ก 5 ข้อ ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ 1.เน้นการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ควบคุมงาน/ผู้อนุมัติ 2.เครื่องจักรหนัก ต้องได้รับการทรวจสอบที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมเข้อกำหนด 3. ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างครบถ้วน 4.การออกแบบชิ้นส่วนรับน้ำหนัก ได้รับการรับรองจากวิศวกร และ 5.จัดให้มีเขตก่อสร้าง/เขตอันตราย” ร.อ.สาโรจน์ กล่าวและว่า การหารือนี้ มีตัวแทน อาทิ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทยกรุงเทพมหานคร สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้เชี่ยวชาญ ในการยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายลดจำนวนอุบัติเหตุในภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการประสบอันตรายสูงที่สุด นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบและดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานกรณีเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง