ชัชชาติ เตรียมชงใหม่ งบจ้างประเมินต้านแผ่นดินไหว ใช้แค่ 9 ล้าน หวังติดเครื่องตรวจจับแรงสั่นในอาคาร

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก่อนเข้าประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2568 ถึงกรณีโลกโซเชียลที่มีการแชร์ และกล่าวถึงเป็นวงกว้างเรื่องภาพตนเองขณะนั่งพักที่อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เขตจตุจักร

โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า จริง ๆ ก็เป็นช่วงกินข้าวเสร็จ กำลังนั่งมอง นึกถึงว่าคนที่อยู่ หากมีชีวิตรอด ก็ขอให้อดทนอีกหน่อย หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น ช่วงนั้นก็ไม่มีอะไรมาก คอยนั่งสังเกตการณ์จากมุมนั้น ก็จะเห็นหมดว่า การทำงานเป็นอย่างไร ใครขาดเหลืออะไร ซึ่งเราจะมีประชุมทุกวันเวลา 08.00 น. เวลา 13.00 น. และเวลา 18.00 น. ร่วมกับหลายหน่วยงาน หน้างานมีชาวต่างชาติที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษด้วย เราก็ไปช่วยสื่อสารบ้าง

ในฐานะผู้นำก็ต้องเข้าใจสถานการณ์และช่วยเข้าไปคุยในประเด็นที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ ทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ดีขึ้น

นอกจากนี้ นายชัชชาติ ได้ตอบคำถามในประเด็นการเสนองบประมาณโครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารในสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่มีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เสนอ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 67 อีกครั้ง เพราะไม่ได้มีแผ่นดินไหวระดับนี้มานาน มุมมองอาจจะเปลี่ยนไป อาจจะลองเสนออีกครั้งในปีนี้ หรืออาจจะมีการเสนอในปีงบประมาณ 2569 หรือใช้งบกลาง เนื่องจากจำนวนเงินไม่ได้เยอะประมาณ 9 ล้านบาท ซึ่งอาจจะดำเนินการก่อนตามโรงพยาบาล เนื่องจากได้รับผลกระทบมากเวลามีการสั่นสะเทือนก็ต้องจำเป็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หากเรามีเครื่องตรวจจับจะทำให้ไม่ต้องอพยพคนทั้งหมด หากการสั่นสะเทือนนั้นไม่เป็นอันตราย อย่างอาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) อาคารสามารถรับการสั่นสะเทือนได้ เทคโนโลยีสมัยนี้ก็ไม่แพงถูกลงเยอะ สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ได้อีก หากมีการติดตั้งในหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร หน่วยงานราชการ และเอกชน เราน่าจะมีข้อมูล และสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น

ADVERTISMENT

นายชัชชาติ กล่าวว่า ภาพรวมของกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว มีเพียงจุดเดียวที่เขตจตุจักร ยังคงต้องเดินหน้าค้นหาผู้รอดชีวิตควบคู่กับการรื้อถอนไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันอาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ได้รับการตรวจสอบแล้ว ส่วนใหญ่สามารถใช้งานได้ปกติ แต่ยังมีอาคารบางส่วน ที่กรุงเทพมหานครเข้าไปตรวจสอบยังไม่อนุญาตให้ใช้อาคาร 2 อาคาร และยังมีอาคารที่กรมโยธาธิการและผังเมืองไปตรวจสอบ ยังไม่ให้เข้าใช้อาคารอีก จำนวน 3 อาคาร ส่วนการค้นหาผู้รอดชีวิต ภายในอาคาร สตง.ที่ถล่มนั้น แม้จะเลย 72 ชั่วโมงมาแล้ว การกู้ชีพค้นหาผู้รอดชีวิตยังต้องทำอยู่ แต่มีการปรับยุทธวิถีด้วยการใช้เครื่องจักรเข้ารื้อถอนมากขี้น ขณะนี้สามารถขยับคอนกรีตได้แล้วมากกว่า 100 ตันแล้ว

ADVERTISMENT

“ขณะนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ได้เจาะช่องอุโมงค์ไว้หลายจุดแล้ว เพื่อจะเร่งหาผู้รอดชีวิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งวันนี้ เวลา 18.00 น. จะมีการประชุมอีกครั้ง เพื่อนำเครื่องจักรใหญ่เข้าพื้นที่เพิ่มเติม และรื้อชิ้นส่วนของอาคารด้านบนออกมาให้ได้มากที่สุด แต่ก็ต้องระมัดระวังดูว่ามีผู้รอดชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งจากการคุยกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่ทำงานมา 40 ปี ยอมรับว่าเหตุการณ์นี้หนักที่สุด เพราะอาคารปูนสูง 30 ชั้น ถล่มลงมาพร้อมกัน ถ้ารื้ออาคารด้านบน ทีมกู้ชีพก็ต้องหยุดปฏิบัติการ เพื่อความปลอดภัย แต่ถ้าระหว่างรื้อ พบสัญญาณชีพ ทีมกู้ชีพก็จะเข้าพื้นที่ทันที จากการสำรวจของทีมกู้ภัยยืนยันแล้วว่า พบ 10 กว่าศพที่ยังติดค้างในอาคาร ยังไม่สามารถนำร่างออกมาได้ ถือว่าการทำงานของทีมกู้ชีพที่ผ่านมา ถือว่าทำมาถูกทางแล้ว” นายชัชชาติกล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image