คำต่อคำ ชัชชาติ ลุกเบรก ส.ก.พญาไท ขออย่าพูด ‘เสียชีวิตหมดแล้ว’ ญาติผู้เสียหายยังมีความหวัง
เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแเดง กรุงเทพฯ ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2568 นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร แจ้งต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมาและส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
โดยมีการไว้อาลัยให้ผู้ประสบภัยประมาณ 1 นาที
.
ทั้งนี้ ในตอนหนึ่ง นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากทม. เขตพญาไท ตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง การเตรียมการรับมือสถานการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ของกรุงเทพมหานครว่า จากสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดรุนแรงตามรายงานของแพทย์ ซึ่งมีแนวโน้มที่ว่าในช่วงเวลา 1 ม.ค. ถึง 1 มี.ค. 2568 ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 160,000 ราย โดยกลุ่มเสี่ยงทุกคนถือเป็นประชาชนคนไทย ต้องดูแลประชาชนคนไทยให้มากกว่านี้ ต้องหันกลับมาดูแลทุกคนให้ได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน
ไข้หวัดใหญ่ช่วงหลังรุนแรงถึงกับเสียชีวิตได้ ผู้ว่าฯ กทม. มีหน้าที่ดูแลประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งมีจำนวนมาก คนที่มีเงินสามสามารถไปฉีดวัคซีนได้ ในราคา 600-1,200 บาท แต่ยังมีกลุ่มคนที่ยากจน เป็นกลุ่มเสี่ยง จึงอยากถามเรื่องการเตรียมการดูแลอย่างไร
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. มอบหมายนางสาวทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ ตอบ
ในตอนท้าย นายพีรพล กล่าวว่า ท่านต้องดูแลประชาชนให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ตั้งอยู่ในศูนย์สาธารณสุขแล้วรอประชาชนมาหา
“ผมขอเพิ่มเติม คือ 7 กลุ่มเสี่ยงนั้นเป็นประชาชนคนไทย ท่านต้องดูแลประชาชนคนไทยให้มากกว่านี้ ท่านไปอยู่ตรงนั้น เขาเสียชีวิตหมดแล้ว แต่คนไทยที่ยังไม่เสียชีวิต ท่านต้องหันกลับมาดูแล ฉีดวัคซีนให้คนที่ยังไม่เสียชีวิต นะครับ ขอบคุณครับ” นายพีรพล กล่าว
จากนั้น นายชัชชาติ ลุกขึ้นกล่าวว่า ขอความกรุณาอย่าใช้คำว่า ‘เสียชีวิตหมดแล้ว’ เพราะยังมีความหวัง
“ขออนุญาตว่า เราก็ยังมีความหวังว่ายังมีผู้รอดชีวิต เพราะฉะนั้น ขอความกรุณาอย่าใช้คำพูดว่า เสียชีวิตหมดแล้ว เพราะมีญาติผู้เสียหายที่ยังมีความหวังอยู่” นายชัชชาติ กล่าว

