สสส.ผนึก สคอ.-ภาคี ลดอุบัติเหตุ ‘สงกรานต์’ เผยสถิติ 7 วันอันตรายปี’67 ดื่มแล้วขับ 22.7%
วันนี้ (3 เมษายน 2568) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และภาคีเครือข่าย แถลงข่าว “ดื่มแล้วขับ อาจเป็นฆาตกร” ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักขับขี่ปลอดภัยช่วงเทศกาล ชี้ให้เห็นโทษและผลกระทบของการดื่มแล้วขับที่มีความรุนแรงและสร้างความสูญเสีย
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน 7 วันอันตรายช่วงเทศกาล 2567 พบ เกิดอุบัติเหตุ 2,044 ครั้ง บาดเจ็บ 2,060 ราย เสียชีวิต 287 ราย สาเหตุเกิดจากขับเร็ว ร้อยละ 41.49 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.7 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 18.1 แม้การทำงานลดอุบัติเหตุทางถนนจะมีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มข้น แต่จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องป้องกัน เพื่อลดความสูญเสีย สสส. จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยทางถนน ดื่มไม่ขับ ไม่ขับเร็ว
ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สงกรานต์นี้ สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์ดื่มแล้วขับ อาจเป็นฆาตกร สื่อสารกระตุ้นเตือนให้คนตระหนักถึงผลกระทบของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังถูกดูดซึมเข้าร่างกายส่งผลต่อการขับขี่ ทำให้ตอบสนองช้าลง ตัดสินใจเบรกไม่ทัน กะระยะผิดพลาด นำไปสู่อุบัติเหตุและการสูญเสีย การตัดสินใจขับขี่เพียงเสี้ยววินาทีอาจเป็นตัวแปรที่เปลี่ยนชีวิตของผู้ใช้ถนนไปตลอดกาล ชวนภาคีเครือข่ายร่วมสร้างวัฒนธรรมสงกรานต์วิถีไทย ชวนสร้างพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย-ปลอดเหล้า
“สงกรานต์นี้ สสส. ร่วมกับ 1.มูลนิธิเมาไม่ขับและเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกว่า 100 เครือข่ายทั่วประเทศ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดทั่วประเทศ เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัย 2.ร่วมกับเครือข่ายตำบลสุขภาวะ 2,000 แห่ง และมี 189 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน 35 อำเภอ 20 จังหวัด ดำเนินการเข้มข้นดูแลประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” และดูแลพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ใน 222 อำเภอเสี่ยง เน้นดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็ว-สวมหมวกนิรภัย และตั้งด่านชุมชน-ด่านปากหวาน เน้นการป้องปรามและตักเตือนเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ชุมชน 3.พร้อมสนับสนุนอาสาสมัครจราจร และเยาวชน Gen Z เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง 4.ร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมขยายมาตรการ “สงกรานต์วิถีไทย สนุก ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์” สร้างความปลอดภัยในพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ร่วมกันผลักดัน “พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย” กว่า 100 พื้นที่ มีถนนตระกูลข้าว ปลอดเหล้า 60 พื้นที่” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นายดุสิต ศิริวราศัย ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลไก ศปถ.ทุกระดับ ทั้ง ศปถ.กทม. ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน อปท. และอำเภอ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกขับขี่ปลอดภัย และใช้กลไกสังคมเพื่อป้องปราม ตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วง
“เทศกาลสงกรานต์จะเน้นจัดการความเสี่ยง เร็ว เมา หมวก และกำหนดมาตรการเชิงรุกในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่ตรวจสอบสภาพรถยนต์ก่อนออกเดินทาง การบรรทุกของหรือผู้โดยสารในกระบะท้ายในลักษณะที่อาจเกิดอันตราย และการทำประกันภัยภาคบังคับ ภาคสมัครใจ สำหรับพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดภัย (Zoning) ปภ. มีมาตรการดูแลทั้งความปลอดภัยในการเดินทาง ควบคู่กับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากการเกิดอาชญากรรม ประชาสัมพันธ์ร้านค้าและสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเวลาที่กำหนด และห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และคนเมาสุรา สถานที่ห้ามขายและห้ามดื่ม พร้อมกำหนดโซนห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ซึ่งต้องดำเนินการร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน” นายดุสิต กล่าว
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการ สคอ. กล่าวว่า สงกรานต์ปีนี้ สคอ. ร่วมกับ สสส. สนับสนุนการทำงานของกลไก ศปถ. หลัก ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการสื่อสารกระตุ้นเตือนสังคมให้รับรู้ถึงความเสี่ยง ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาล โดยจะผลิตในรูปแบบสื่อรณรงค์ ภายใต้แคมเปญ “ดื่มแล้วขับ อาจเป็นฆาตกร” กระจายไปยังภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ และร่วมกับกลไก ศปถ.หลัก ติดตามเฝ้าระวังตลอด 7 วัน พร้อมกับลงพื้นที่ค้นหาความจริงเพิ่มเติมกรณีเกิดอุบัติเหตุใหญ่ นำมาวิเคราะห์เจาะลึกสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร กำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป
น.ส.ดุษฎี ปรีชากร รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี กล่าวว่า อบต.ท่าคอย ดำเนินการตำบลขับขี่ปลอดภัย ได้แก่ 1.กลไกการจัดการที่เข้มแข็งโดยมีการจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) หรือการตั้งคณะทำงาน 2.ดำเนินแผนกิจกรรมการสวมหมวกนิรภัย 100% 3.แผนหรือกิจกรรมการลดการเสียชีวิตจากการ “ดื่มขับ” 4.แก้ไขจุดเสี่ยงใน อปท.โดยเกณฑ์ที่สอดคล้องกับนโยบายของ ศปถ. และใช้แผนการป้องกันและลดอุบัติเหตุของ สสส. โดยแบ่งเป็นระยะก่อนเกิดเหตุ ประชุมและซักซ้อมแผนการดำเนินกิจกรรมก่อนเทศกาล มีการให้บริการตรวจเช็คสภาพรถ ปรับปรุงภูมิทัศน์ข้างทาง ซ่อมถนน ซ่อมไฟ และ ระยะเกิดเหตุ มีแผนการบริการและช่วยเหลือ การบริการตั้งด่านชุมชน และด่านบริการประชาชน เตรียมบุคลากรทางด้านการแพทย์ จากโรงพยาบาล (รพ.) ท่ายาง บุคคลากรระงับเหตุจากสถานีตำรวจภูธรท่ายาง รวมถึงเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และประสานส่งต่อรถกู้ชีพกู้ภัย รวมถึงจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะคนที่ดื่มแล้วขับ ตักเตือนเมื่อพบเจอ ผู้นำเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้รถ ใช้ถนน ซึ่งเทศกาลสงกรานต์ 2567 ในพื้นที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มีเพียงผู้บาดเจ็บ 4 คนเท่านั้น สาเหตุเกิดจากไม่มีสัญญาณจราจร และเป็นแยกวัดใจ
น.ส.เครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นเครือข่ายที่ทำงานกับเคสอุบัติเหตุทางถนน ขอยกเคสตัวอย่างที่ทำงานด้วย เมื่อ ปี 2560 เหยื่อเมาแล้วขับ 5 ศพ ผู้ประสบเหตุ คือ กู้ภัยและตำรวจที่กำลังไปช่วยอุบัติเหตุบนถนน แต่กลับเจออุบัติเหตุซ้ำซ้อน ทุกวันนี้ พ่อ แม่ ผู้เสียชีวิต 1 ใน 5 ไม่เคยผ่านแถวนั้นเลย เพราะรับไม่ได้กับการสูญเสียลูกชายวัยกำลังเรียน ความรู้สึกของหลายครอบครัวไม่มีความสุข หดหู่ ความสุขทางใจไม่มีอีกแล้ว ทุกความสูญเสียไม่ได้อยู่กับผู้สูญเสียแค่ 7 หรือ 10 วัน แต่อยู่กับคนในครอบครัวที่สูญเสียตลอดไป ยิ่งการผ่อนปรนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิดขึ้น คนยิ่งไม่กลัว สงกรานต์นี้ จึงอยากให้ทุกคนฉลองสงกรานต์อย่างมีความสุข อยู่บ้านกับครอบครัว หากดื่มก็ควรอยู่บ้านเพื่อไม่ออกมาเป็นฆาตกรทำร้ายเพื่อนร่วมทางถนน