สมศักดิ์ เผย เตรียมส่งแพทย์ EMT ไปเมียนมา ย้ำ ไม่ได้ไปลำพัง ต้องมีการดูแลความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกลุ่มแพทย์แสดงความคิดเห็นคัดค้านการบังคับส่งทีมแพทย์เข้าไปช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา เนื่องจากยังมีสงครามภายในประเทศถือว่าเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย ว่า การที่ สธ. จะส่งทีมแพทย์ไปนั้น ไม่ได้เป็นการส่งไปโดยลำพังของ สธ. เพียงอย่างเดียว เพราะเราต้องรอคำสั่งจากกระทรวงการต่างประเทศก่อน โดย สธ. ก็ได้เตรียมความพร้อมของทีมแพทย์ไว้เป็นทีม EMT type 1 (Emergency Medical Technician) จำนวน 40 คน รวม 2 ทีม โดยมี นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้นำทีม ท่านมีประสบการณ์และได้ลงพื้นที่เมียนมาไปครั้งที่มีการพายุนาร์กีส ดังนั้นท่านก็จะให้ความช่วยเหลือประสานงานกับทางเมียนมาได้อย่างดี รวมถึงดูแลเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ด้วย

“เราเตรียมความพร้อม เมื่อขอมาเราก็ต้องจัด เพราะเราเป็นรัฐที่ต้องร่วมดูแล ทั้งด้านมนุษยธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราเป็นผู้ตาม ไม่ใช่เป็นผู้นำ แต่เราจะทำความพร้อมให้กับตัวเราเอง”นายสมศักดิ์กล่าว

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ เป็นกรมที่ดูแลเรื่องวิชาการและการแพทย์ฉุกเฉิน การอุบัติภัย เราได้ทำงานมาตั้งแต่ช่วงที่มีสึนามิ พายุนาร์กีส ดังนั้นเป็นงานที่กรมการแพทย์มีหลักสูตรอยู่แล้ว นอกจากนั้นทีมกรมการแพทย์ยังผ่านการประเมินการแพทย์ฉุกเฉินระดับ EMT Type 1 ที่สามารถทำห้องฉุกเฉินเคลื่อนที่ได้ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งวันนี้เฉพาะทีมของกรมการแพทย์รวม 28 คนกำลังประชุมกันอยู่ จะเป็นบุคลากรจากโรงพยาบาลราชวิถี, รพ.เลิดสิน และ รพ.นพรัตนราชธานี ทั้งนี้ ทีมจากกรมการแพทย์ดังกล่าวก็เพิ่งกลับมาจากการฝึกซ้อมภาคสนามที่ จ.ปราจีนบุรี ระหว่างวันที่ 26 – 28 มีนาคม ที่ผ่านมา แล้วก็ได้มาช่วยเหลือเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ถล่มเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ด้วย

“ขณะนี้ กำลังรอกระทรวงการต่างประเทศประสานมา ซึ่งระหว่างนี้เราก็เตรียมวางแผน เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วและต้องจัดหาเพิ่ม นอกจากนั้นยังมีทีมจากกรมควบคุมโรคดูเรื่องโรคภัย กรมอนามัยดูเรื่องสิ่งแวดล้อม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมสุขภาพจิต และทีมจากที่อื่นๆ รวมๆ 36 – 40 คน แต่มีกรมการแพทย์เป็นกรมหลัก” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ADVERTISMENT

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า แผนการลงพื้นที่ของทีม EMT โดยปกติแล้วจะมีการแบ่งออกเป็นชุด ชุดหนึ่งจะทำงานในหน้างานประมาณ 7 – 10 วัน จากนั้นก็จะกลับมาเปลี่ยนอีกชุดไป ซึ่งชุดที่ไปใหม่ก็อาจจะมีคนจากชุดเดิมเข้าไปประสานงานเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องด้วย ส่วนจะส่งไปเมื่อไหร่นั้น ต้องรอคำสั่งจากกระทรวงการต่างประเทศก่อน

เมื่อถามว่าทีม EMT ที่ต้องลงพื้นที่นั้น บุคลากรรู้อยู่แล้วว่าจะต้องลงพื้นที่ที่มีความเสี่ยง นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ใช่ ทุกคนรู้ว่าต้องลงพื้นที่เสี่ยง เพราะมีการฝึกซ้อมกันมา ไม่ได้เป็นการเลือกแพทย์จาก รพ. แล้วส่งไป เพราะทีมที่เป็น EMT ต้องได้รับการฝึกก่อน มีการซ้อมแผนตลอด ซึ่งทีมงานเขารู้จักกัน ไม่ได้เฉพาะของกรมการแพทย์ แต่ก็รู้จักกันทั้งเครือข่ายทั้งในและนอกกระทรวงฯ ที่ร่วมฝึกกันมา

ADVERTISMENT

ถามต่อว่าการส่งทีมแพทย์ลงไปไม่ได้เป็นการบังคับใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับกรมการแพทย์ถูกฝึกงาน และหากได้รับการประสานให้รวมทีมกับที่อื่นๆ ก็ต้องประสานเพื่อดูความพร้อมในแต่ละบุคคลด้วย

ถามถึงสิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมหลังเดินทางไปถึงประเทศเมียนมา นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ท่านรมต.สาธารณสุข ได้แจ้งไว้ว่าจะมีทีมล่วงหน้าไปก่อน นำโดย นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ซึ่งท่านก็จะไปหาข้อมูลมาก่อนว่าทีมที่จะไปยังเตรียมอะไรไปบ้าง ระหว่างนี้กรมการแพทย์ก็จะเตรียมข้อมูลวิชาการไว้ เช่น การประเมินสถานการณ์ (Situational Analysis) การรวบรวมสถิติ ระบบการขนส่งหรือการเดินทาง เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image