สปสช.เปิดเวทีถกแนวทางเพิ่มเข้าถึงบริการ ‘สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค’ แก้ใช้สิทธิน้อย
วันนี้ (6 เมษายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีเสวนาและรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ไขข้อข้องใจการใช้สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค ทำไมคนไทยยังใช้บริการน้อย” ที่อาคารศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้รับบริการตามสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เกี่ยวกับการเข้าถึงบริการตามสิทธิ รวมถึงอุปสรรคปัญหา และข้อเสนอแนะ เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาปรับปรุงการชุดสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมป้องกันฯ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นนี้ว่า ที่ผ่านมาการเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิสร้างเสริมป้องกันฯ นับตั้งแต่ที่มีประกาศกำหนดขอบเขตบริการมาตั้งแต่ปี 2565 พร้อมกับแก้ไขประกาศเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการเข้าถึงบริการ แต่การเข้าถึงก็ยังน้อยอยู่ ซึ่งอาจมาจากสาเหตุที่ประชาชนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับสิทธิบริการสร้างเสริมป้องกันฯ หรือมีอุปสรรคการเข้าถึงบริการ เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญคือปัญหาอุปสรรคต่างๆ เป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันแสวงหาทางออก
ซึ่งวงเสวนา และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการในครั้งนี้ จะเป็นอีกเวทีที่จะช่วยค้นหาสาเหตุว่าทำไมคนไทยถึงใช้สิทธิ P&P กันน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และยังจะได้ข้อมูลผ่านการระดมความเห็นที่จะถูกนำไปต่อยอดวิเคราะห์สู่การหาแนวทางแก้ไข หรือแนวทางปรับปรุงพัฒนาระบบการจัดบริการ เพื่อให้การเข้าถึงสิทธิบริการสร้างเสริมป้องกันฯ ของคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษากันมากขึ้น
ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สปสช. กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลการให้บริการตามสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมป้องกันฯ ของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ที่มีการเบิกจ่ายตามรายการให้บริการ (Fee schedule) พบว่ามีคนไทยเข้าถึงสิทธินี้เพียงแค่ 30% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมา สปสช. ใช้กลไกการบริหารจัดการ เพื่อกระตุ้นเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการตามสิทธิ P&P มากขึ้น อย่างเช่น การเพิ่มหน่วยบริการ การพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การใช้นวัตกรรมการตรวจคัดกรองสุขภาพด้วยตัวเอง ซึ่งก็ทำให้ประชาชนสะดวกมากขึ้นในการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ แต่ก็ยังพบว่าการเข้าถึงบริการ P&P ในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งหากมีส่วนใดที่เป็นอุปสรรคจากทุกภาคส่วนที่สะท้อนออกมา สปสช. ยินดีที่จะรับข้อมูลเพื่อไปพัฒนาสิทธิประโยชน์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสร้างเสริมป้องกันฯ ของประชาชนให้มากขึ้น
ในส่วนความคิดเห็นจากการเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมป้องกันฯ จากเวทีเสวนาดังกล่าว ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนผู้ให้บริการจากภาครัฐ และเอกชน และภาคประชาชนในฐานะผู้รับบริการ มาระดมความเห็นและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมป้องกันฯ โดยมี นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้จัดรายการเช้าทันโลก FM. 96.5 ดำเนินรายการ
นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยมีโครงการตรวจสุขภาพฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย 1 ล้านคน ที่เป็นการตรวจคัดกรองเชิงลึกเพื่อป้องกันโรคไม่ต่อต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมถึงให้บริการเชิงรุกไปยังชุมชน รวมถึงห้างสรรพสินค้าเพื่อให้สอดรับกับวิถีของประชาชน ขณะที่ในอนาคต จะมีศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ให้บริการสุขภาพในวันหยุด รวมถึงให้บริการนอกเวลาราชการเพิ่มเติม ซึ่งก็คาดว่าจะช่วยให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงบริการสร้างเสริมป้องกันฯ ได้มากขึ้น
นพ.ณรงค์พล ห้าวเจริญ จากโรงพยาบาลไอเอ็มเอช สีลม หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากภาคเอกชน กล่าวว่า จุดที่เป็นอุปสรรคในการให้บริการสร้างเสริมป้องกันฯ เชิงรุกของหน่วยบริการภาคเอกชนคือการประสานขออนุญาตกับหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดความล่าช้าในการออกไปให้บริการ อย่างไรก็ตาม ทราบว่า สปสช. จะมีการปรับปรุงขอบเขตการให้บริการ P&P เชิงรุกให้มากขึ้น ก็จะทำให้การออกไปบริการเชิงรุกทำได้มากขึ้นด้วย
ขณะที่ความเห็นจากภาคประชาชน น.ส.วิมล ถวิลพงษ์ รองประธานชุมชนใต้สะพาน (ชุมชนพูนทรัพย์) เขตสายใหม กทม. และ นางเตือนใจ เกษมศรี ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองใต้สะพานสลัมสี่ภาค กล่าวในทางเดียวกันว่า อยากให้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิบริการสร้างเสริมป้องกันฯ ให้กับประชาชนได้เข้าใจมากขึ้น เพราะปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมในชุมชน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้สิทธิสุขภาพด้านนี้ และที่สำคัญคือมีอีกไม่น้อย ที่ไม่รู้ว่าการคัดกรองโรคก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องป่วยก่อน รวมไปถึงในการเขียนโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ก็อยากให้มีหน่วยงานภาครัฐช่วยเขียนเสนอโครงการพร้อมกับกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม เพื่อให้ภาคประชาชนในชุมชน เป็นอีกหนึ่งกำลังในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ด้าน ผศ.ดร.อรุณี ลิ้มมณี กรรมการกำกับทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สสส. กล่าวถึงการเข้าถึงบริการบริการสร้างเสริมป้องกันฯ ของคนพิการว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิสุขภาพ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการบริการสุขภาพของคนพิการมีความชับซ้อน ทำให้คนพิการเข้าถึงข้อมูลได้ยาก และเป็นอีกสาเหตุที่คนพิการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ จึงอยากให้มีการปรับปรุงและมีการสื่อสารที่ครอบคลุมกลุ่มคนพิการทุกประเภท เพื่อให้สามารถเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดนโยบายด้านสุขภาพอย่างถูกต้องและเหมาะสม
นพ.กฤช ลี่ทองอิน ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. ที่เข้าร่วมเวทีเสวนานี้ด้วย กล่าวในตอนนท้ายว่า สปสช. จะนำความเห็น ข้อเสนอแนะจากการรับฟังนี้เพื่อไปปรับปรุงและพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมป้องกันฯ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องดำเนินการ เพราะแม้ว่าสิทธิประโยชน์ ที่รัฐจัดบริการให้กับคนไทยทุกคนทุกสิทธิโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังพบว่ามีปัญหาในการเข้าถึงบริการดังกล่าวของประชาชน ซึ่ง สปสช. ก็จะต้องหาแนวทางเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการนี้มากขึ้น สิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมป้องกันฯ มีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายของประชาชน โดยเฉพาะการมุ่งเน้นไปที่การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่จะช่วยไม่ให้เจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ได้ในอนาคต