อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย 3 ตัวบินแวะพักเป็นระยะ ใกล้ถึงพรมแดนภาคเหนือของไทยแล้ว 

อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย 3 ตัวบินแวะพักเป็นระยะ ใกล้ถึงพรมแดนภาคเหนือของไทยแล้ว 

วันที่ 7 เมษายน  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมนักวิจัยเผยข่าวดีหลังการติดตามอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ที่ได้รับการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พบว่านกทั้ง 3 ตัวบินได้ไกลกระจายตัวไปยังพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยแล้ว สร้างความหวังให้กับโครงการอนุรักษ์นกนักล่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของไทย

อ่านข่าว

กรมอุทยานฯ ปล่อยอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยคืนสู่ธรรมชาติ พร้อมติดเครื่องติดตามเพื่อการอนุรักษ์

ADVERTISMENT

ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกสรดอกบัว หัวหน้าหน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์อนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และตัวแทนกองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์ ได้มีการติดตามเส้นทางการบินของอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยทั้ง 3 ตัว ซึ่งติดอุปกรณ์ส่งสัญญาณดาวเทียมก่อนปล่อย แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่น่ายินดี โดยทั้ง 3 ตัวเดินทางเกือบถึงชายแดนของประเทศไทยแล้วโดยแวะพักเป็นระยะ​ๆ

ADVERTISMENT

“การปล่อยอีแร้งครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568 ณ จุดชมวิวโมโกจูน้อย บริเวณเส้นทางกิโลเมตรที่ 83 ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติคลองลานและอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูประชากรนกนักล่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ”ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 6 เมษายน 2568 เวลาประมาณ 17.00 น. ทีมนักวิจัยได้ติดตามตำแหน่งของอีแร้งทั้ง 3 ตัวพบว่า​ 1. “DNP3” บินไปถึงอำเภอจอมทอง ใกล้กับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 2. “DNP5” หรือที่มีชื่อเรียกว่า “yangae” อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง จังหวัดพะเยา 3. “KU1025” หรือ “valentine” บินไปถึงอุทยานแห่งชาติออบหลวง

ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ ระบุว่า สำหรับอุปกรณ์ส่งสัญญาณดาวเทียมที่ติดตั้งบนตัวนกช่วยให้นักวิจัยสามารถติดตามเส้นทางการบิน พฤติกรรม และความเป็นอยู่ของนกได้อย่างละเอียด ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาวิจัยและการวางแผนอนุรักษ์ในอนาคต

โดย อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยเป็นนกนักล่าขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ ด้วยการกินซากสัตว์ พวกมันช่วยควบคุมการแพร่กระจายของโรคและรักษาสมดุลในห่วงโซ่อาหาร การลดลงของประชากรอีแร้งในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวม​ ซึ่งการปล่อยครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ และอีแร้งทั้ง 3 ตัวจะสามารถกลับไปยังถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของพวกมันได้อย่างปลอดภัยนับเป็นก้าวสำคัญของการอนุรักษ์อีแร้งในประเทศไทย เราหวังว่าความพยายามนี้จะช่วยฟื้นฟูประชากรและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องนกนักล่าเหล่านี้​

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์ และหน่วยงานด้านการอนุรักษ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูล: คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภาพ: เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image