ปภ.ถกกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีแผ่นดินไหว เหมาจ่ายผู้เสียชีวิต-ผู้พิการรายละ 1 แสน
เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการประชุมหารือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ในการเยียวยาผู้ประสบภัยกรณีแผ่นดินไหวให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับความจำเป็นมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้แทนกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมหารือ
นายภาสกร กล่าวว่า จากกรณีแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ 18 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย ปภ. ณ วันที่ 7 เม.ย. มีรายงานผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 36 ราย ถือเป็นเหตุการณ์สาธารณภัยที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ และได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะหน่วยงานกลางของรัฐในการบูรณาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ กำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีแผ่นดินไหวให้มีความเหมาะสม และจำเป็นเพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
ซึ่งตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฯ จังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจะใช้เงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดวงเงิน 20 ล้านบาท
นายภาสกร กล่าวว่า และในส่วนของกรุงเทพมหานคร จะอยู่ในอำนาจของอธิบดี ปภ.โดยค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด หากมีความจำเป็นต้องจ่ายนอกเหนือหลักเกณฑ์ต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังก่อน
วันนี้ ปภ.จึงได้จัดการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ในการเยียวยาผู้ประสบภัยให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ เพียงพอต่อความจำเป็นของผู้ประสบภัย รวมถึงถูกต้องตามขั้นตอน เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย
นายภาสกร กล่าวต่อว่า การหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในวันนี้ เป็นการหารือในเชิงหลักการเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีความเหมาะสม และเพียงพอต่อลักษณะของภัยและผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยตามหลักเกณฑ์ฯ ปกตินั้น กรณีผู้เสียชีวิตจะจ่ายเงินค่าจัดการศพรายละไม่เกิน 29,700 บาท และหากผู้ที่เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัว จะจ่ายเพิ่มอีกไม่เกิน 29,700 บาท
โดยวันนี้ได้หารือร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัตินอกหลักเกณฑ์ และจ่ายเป็นค่าจัดการศพผู้เสียชีวิตในลักษณะเหมาจ่าย รายละ 100,000 บาท ในกรณีของผู้ได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นพิการ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติจ่ายเงินช่วยเหลือในลักษณะเหมาจ่ายรายละ 100,000 บาท รวมทั้งกำหนดแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นเท่าที่จ่ายจริง
นายภาสกร กล่าวว่า ในส่วนที่เบิกไม่ได้ตามสิทธิของผู้ประสบภัยตามอัตราที่ทางราชการกำหนด เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ผู้ประสบภัยทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ เป็นแรงงานที่เข้าเมืองมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม จะได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ปภ.จะเสนอขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีแผ่นดินไหว เพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดรองราชการฯ เพื่อเป็นเงินเยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ค่าเยียวยากรณีบาดเจ็บจนถึงขั้นพิการ และค่าเยียวยากรณีบาดเจ็บสาหัส โดยเทียบเคียงจากอัตราการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในส่วนของอัตราการจ่ายเงินเยียวยาโดยใช้งบกลางนั้น จะต้องให้สำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง
นายภาสกร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้เร่งประสานจังหวัดและกรุงเทพมหานครในการสำรวจและรวบรวมข้อมูลความเสียหาย และดำเนินการตามขั้นตอนตามที่ระเบียบกำหนดโดยเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมในทุกมิติ