เปิดบันทึก รองผู้ว่าฯ กทม. เผย 5 ความหวัง ในสัปดาห์ที่หดหู่

เปิดบันทึก รองผู้ว่าฯ กทม. เผย 5 ความหวัง ในสัปดาห์ที่หดหู่

เมื่อวันที่ 8 เมษายน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยแพร่ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาเป็นบันทึกความทรงจำและข้อสังเกตต่างๆ ในช่วงการกู้ภัยอาคาร สตง. ที่ถล่มในเหตุการณ์แผ่นดินไหวตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา

พร้อมระบุถึง ‘ความหวังเล็กๆ’ ในช่วงเวลาที่น่าหดหู่ ซึ่งพบว่า การใช้เทคโนโลยีในระบบราชการ สามารถทำได้จริงแล้ว และเมื่อรัฐเปิดโอกาส คนที่มีความสามารถก็พร้อมเข้ามาช่วย นอกจากนี้ ข้าราชการที่เสียสละ พร้อมทำงานเพื่อประชาชนมีอยู่ในกทม.มากมาย

ความดังนี้

ADVERTISMENT

เรามีความหวังเล็กๆอะไรบ้าง ในช่วงสัปดาห์ที่น่าหดหู่นี้

ขอบันทึกการทำงานช่วงสัปดาห์ก่อนไว้สักหน่อยครับ ในวันที่กรุงเทพฯโดยรวมกลับสู่สถานการณ์ปกติ ยกเว้นเพียงอาคาร สตง.ที่ทีมยังเดินหน้าเรื่องการรื้อซากตึกที่จตุจักรอย่างต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

 

และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเจอทั้งแผ่นดินไหว ตึกถล่ม เศรษฐกิจโลกเขย่าจากกำแพงภาษี พายุฝนที่กำลังเริ่มเข้ามาแล้ว แน่นอนว่าน่าหดหู่อย่างที่ว่า แต่ในมุมหนึ่ง ผมว่าไม่มากก็น้อยเรามีความหวังเล็กๆอยู่บ้างครับ ถึงแม้จะไม่ได้ใหญ่โตอะไรมาก เลยอยากบันทึกเก็บไว้

5.การใช้เทคโนโลยีในระบบราชการ ทำได้จริงแล้ว (แม้จะไม่เพอร์เฟค 100%)

กทม.ใช้ระบบแจ้งเรื่องร้องเรียน Traffy Fondue ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา ทำให้ระบบนี้ไม่ต้องเริ่มใหม่ แต่ทุกหน่วยราชการเข้าใจและพร้อมตอบสนอง “ทันที” พอเกิดแผ่นดินไหว

– เราสามารถเพิ่มปุ่มแจ้งเตือนเรื่องอาคารร้าวได้ภายใน 1 ชั่วโมง ทำให้มีเรื่องเข้ามามากสุดวันนึงเกือบ 9,000 เรื่องจากปกติเฉลี่ยวันละ 1,000 เรื่อง

– จากเดิมต้องใช้เวลาเฉลี่ย 50 ชั่วโมงจะดำเนินการเสร็จ 1 เรื่อง เรื่องอาคารร้าวเราสามารถให้คำแนะนำแก่คนแจ้งได้เฉลี่ยภายใน 2.2 ชั่วโมงด้วยเจ้าที่โยธาและวิศวกรอาสามากมายที่มาช่วยกัน

– จากค่าเฉลี่ยความพึงพอใจที่ 3.95 เต็ม 5 การตอบสนองช่วงแผ่นดินไหวเรามีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจที่ 4.65 เยอะกว่าทุกงานที่เคยทำมา

4.เมื่อรัฐเปิด คนเก่งๆก็พร้อมเข้ามาช่วยกัน

ในคืนแผ่นดินไหวนั้นทันที นอกจากเราจะระดมข้าราลการวิศวกรทั้งกทม.แล้ว เรายังได้พี่ๆวสท.และวิศวกรอาสามาราว 20 คนที่ศาลาว่าการ อีกวันต่อมา 130 คน และมาต่อเนื่องจนจบก่อนเปิดทำงานวันจันทร์ ตรวจอาคารไปกว่า 500 อาคาร ทุกคนมากันทันที ไม่มีคำถาม ไม่มีข้อแม้ อยู่กันดึกดื่น เพื่อช่วยกันตรวจอาคารจากฟองดูที่ประชาชนแจ้งมา

ทีมเทคฯที่อาสามาช่วยกันทำระบบ Report อาคารที่ตรวจสอบแล้ว ทำเว็บไซต์ให้คนแจ้งกลับมา ทำเว็บไซต์ชวนคนเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ เสร็จภายใน 5 ชั่วโมง พร้อมแสตนบายรองรับเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา และอาสาสมัครเพื่อนชัชชาติอีกมากมาย ที่หายหน้าไปแต่พร้อมกลับมาช่วยเหลือกันเสมอในยามต้องการ

ที่ผมเสียดายที่สุดคือเรื่องการเยียวยา ที่เราอยากทำให้เป็น Digital มากๆ แต่ติดที่ยังไง ปภ.แจ้งว่ายังต้องการเอกสารเป็น hard copied ทั้งหมด และกระบวนการต่างๆที่เราคงไปยุ่งมากไม่ได้ เพราะจะกระทบต่อการประเมินราคาความเสียหาย สุดท้ายเราจึงทำได้เพียงการจัดคิวที่สำนักงานเขต การแจ้งประชาชนล่วงหน้าให้เตรียมเอกสารอะไรบ้างจะได้ไม่ต้องเดินทางซ้ำแก้เอกสารไปมา และการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมานั่งที่เขตให้เป็น One Stop แบบ Offline แทน อย่างไรเราจะมีการประชาสัมพันธ์แจ้งทุกคนเร็วๆนี้อีกทีครับ

3.สร้างศูนย์พักพิงใหม่ vs เชื่อมโยง Airbnb หาบ้านพักชั่วคราวสำหรับอาคารที่ถูกสั่งระงับการใช้

แม้เราจะเปิดสวนสาธารณะ เปิดศูนย์กีฬา และมีหลายโรงเรียนที่สำนักงานเขตเปิดรองรับให้ประชาชนเข้าไปอยู่ แต่หลายคนไม่สะดวกไปอยู่แบบนั้น โชคดีที่ได้จับมือกับ Airbnb ในการหาบ้านพักพิง การจับมือกับ Startups ไม่ต้องสร้างศูนย์พักพิงใหม่ แต่เอา Supply ที่มีมาเจอ Demand ที่ต้องการแทน ไม่ต้องรอสร้าง ไม่ต้องเสียงบ แต่ได้ที่พักทันที

ปัจจุบัน Airbnb ให้เครดิตเรากว่า 7,096 คืนให้กับคนที่ได้รับผลกระทบจากที่ตึกถูกสั่งระงับแล้ว

2.การตัดสินใจด้วยข้อมูลเกิดขึ้นจริงในระบบราชการ

เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ตัวเลขที่รองวิศณุเอามาให้ผู้บริหารทุกคนตั้งสติได้ คือตัวเลขแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องวัดแผ่นดินไหวที่เราติดที่ชั้น 32 ของอาคารธานีนพรัตน์ (กทม.2) ว่ามันมีแรงสั่นสะเทือน 123 mg ค่ามาตรฐานที่ชั้นผิวดินคือ 200 mg ดังนั้นการที่ชั้น 32 ยังมีค่าแค่ 123 mg ไม่ส่งผลต่ออาคารที่ออกแบบตามมาตรฐานเลย

เห็นได้ชัดอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ที่มีเหตุการณ์ตื่นตระหนกจากศูนย์ราชการ และเกิดการอพยพ ก็เป็นอีกครั้งที่ตัวเลขบอกเราว่ามีค่าสั่นสะเทือนเพียง 0.6 mg ในเวลาที่ทุกคนตื่นตระหนก ข้อมูลยิ่งบอกกับเราว่ามันน้อยมากๆเมื่อเทียบกับวันศุกร์ที่ 28 เมษาที่แผ่นดินไหวทั้งเมือง ทำให้ทุกคนตั้งสติได้

1.ข้าราชการที่เสียสละ พร้อมทำงานเพื่อประชาชนมีอยู่ในกทม.มากมาย เรามีทีมที่ดีอยู่ครับ

งานทั้งหมดเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่มีทีมข้าราชการที่เข้าขา เข้าใจงาน และพร้อมทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อประชาชนจริงๆ หลายคนทำงานเกิน 18 ชั่วโมงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพี่ๆหน้างาน แต่หลังบ้านก็น่าชมเชย ทีมที่เราได้ทำงานร่วมกันตลอด 3 ปี วันนี้เหมือนเอาทุกความเข้าขาเข้าใจกันมาใช้เพื่อช่วยดันช่วยเหลือประชาชน ทั้งๆที่หลายคนบ้านก็พังไม่แพ้กัน

นอกจากสำนักป้องกันสาธารณภัยแล้ว ผมอยากยกย่องที่สุดน่าจะเป็นทีมสำนักโยธา สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานการต่างประเทศ กองสวนสาธารณะ กองสังคีต สำนักผู้ว่าฯ ทีม 1555 ทีมสำนักปลัดดูแลทีมงานอย่างดี ฯลฯ ทีมต่างๆเป็นกระดูกสันหลังที่สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนจริงๆครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image