เมื่อวันที่ 8 เมษายน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในกลุ่ม “พวกเราคือผู้บริโภค” เป็นภาพถุงอาหารที่มีปากกาเมจิกเขียนไว้บนถุง ทำให้เกิดความกังวลถึงความปลอดภัยของผู้รับประทาน ว่า สำหรับถุงบรรจุอาหารนั้น จะมีทั้งแบบถุงร้อนที่ทนทานความร้อนและน้ำมัน และถุงเย็นที่ไม่สามารถทนทานได้ ฉะนั้น ผู้ขายอาหารควรเลือกถุงบรรจุให้เหมาะสมกับอาหารที่ขาย เช่น อาหารที่ร้อน และมีความมัน เป็นของมันๆ ก็ควรต้องใช้ถุงร้อน ปัจจุบันมีถุงพลาสติกที่ใช้แพร่หลาย ประกอบด้วย 1.ถุงร้อน ทำจากเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน (Polypropylene, PP) มีลักษณะใสมาก กระด้างกว่าถุงเย็น ไม่ยืดหยุ่น สามารถบรรจุของร้อนและอาหารที่มีไขมัน ทนความร้อนได้ถึง 100-120 องศาเซลเซียส และถุงร้อนที่ทำ จากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (Polyethylene, PE) ชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) มีลักษณะบาง ขุ่น
พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า 2.ถุงเย็น ทำจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (Polyethylene, PE) ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) มีลักษณะค่อนข้างใสนิ่ม ยืดหยุ่นพอสมควร ใช้บรรจุอาหารแช่แข็ง ทนความเย็นได้ถึง 70 องศาเซลเซียส แต่ทน ความร้อนได้ไม่มาก และ 3.ถุงหิ้วหรือถุงก๊อบแก๊บ ทำจากพลาสติกโพลีเอทิลีน (Polyethylene, PE) ชนิดความหนาแน่นต่ำ แต่ส่วนใหญ่มักนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาทำความสะอาดและหลอมใหม่ ไม่ปลอดภัยกับการบรรจุอาหารทุกชนิด เช่น กล้วยแขก ปาท่องโก๋ ฯลฯ แม้แต่จะมีกระดาษรองอีกชั้นก็ตาม เพราะสารโลหะหนักอาจละลายออกมาปนเปื้อนได้
“กรณีการใช้ปากกาเมจิก หรือปากกาเคมีเขียนที่ถุงบรรจุุอาหารร้อน หากถุงร้อนบรรจุอาหารได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. 1027-2567 จะทนความร้อนได้มากถึง 100-120 องศาเซลเซียส สีปากกาเมจิก ปากกาเคมีอาจจะไม่ซึมผ่าน ถึงแม้ว่ายังไม่มีงานวิจัยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก แต่หน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหาร เช่น องค์การอาหารและยา (FDA) แนะนำให้ใช้วัสดุที่ปลอดภัยสำหรับการสัมผัสอาหารโดยตรง เช่น ปากกาหรือหมึกที่ได้รับการรับรองว่า เป็น food grade หรือ ปลอดภัยสำหรับอาหาร เนื่องจากปากกาเคมีบางประเภทอาจมีสารประกอบที่อาจเป็น อันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่สารตกค้างที่มีสารโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว หรือสารอินทรีย์ที่อาจเป็นพิษ ซึ่งอาจซึมเข้าสู่ อาหารโดยเฉพาะในกรณีที่มีความร้อนหรือสัมผัสเป็นเวลานาน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ปากกาเมจิก ปากกาเคมี เขียนที่ถุงพลาสติกโดยตรง” พญ.อัมพร กล่าว
นอกจากนั้น พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมอนามัยขอแนะนำให้ติดสติกเกอร์แทนการใช้ปากกาเมจิก ปากกาเคมี และ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีการเขียนถุงบรรจุอาหารด้วยปากกาเมจิก ปากกาเคมี หรืออาจเลือกใช้วิธีการเขียนใส่กระดาษแทน ทั้งนี้ หากยังมีการใช้ปากกาเขียนลงบนถุงอาหาร จนก่อเกิดผลกระทบกับผู้บริโภค กรมอนามัยก็จะมีการผลักดันออกเป็นข้อบังคับตามกฎหมายต่อไป