สถาบันประสาทฯ โชว์ ‘หุ่นยนต์ผ่าตัดสมอง’ รักษาผู้ป่วยลมชักแห่งแรกในไทย
วันนี้ (8 เมษายน 2568) นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถาบันประสาทวิทยา ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูงโดยการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมอง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาที่ทันสมัยปลอดภัย ซึ่งความสามารถของหุ่นยนต์ตัวนี้ สามารถช่วยผ่าตัดได้หลายโรค และหลายหัตถการ เช่น การผ่าตัดวางขั้วไฟฟ้าเพื่อหาจุดกำเนิดของโรคลมชัก การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep brain stimulation) ในโรคพาร์กินสัน การผ่าตัดส่องกล้องในสมอง (Endoscope) หรือ การผ่าตัดอื่นๆ ที่ต้องการความแม่นยำสูงหรืออยู่ในตำแหน่งที่ยากต่อการเข้าถึงด้วยวิธีการผ่าตัดแบบธรรมดา
ด้าน ว่าที่ ร.ต.ท.หญิง พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวถึงหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมอง ว่า ได้ช่วยผ่าตัดหาจุดกำเนิดการชักในผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายาก และมีความซับซ้อนไปแล้ว 56 ราย โดยปกติในผู้ป่วยโรคลมชักที่มีจุดกำเนิดของโรคจากสมองเฉพาะที่ และดื้อต่อการรักษาด้วยยากันชัก การผ่าตัดถือเป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคลมชักได้ สามารถเปลี่ยนจากผู้ป่วยโรคลมชักให้กลับไปเป็นคนปกติ หรือ หายขาดจากโรคได้ เมื่อแพทย์ได้สมมติฐานจุดกำเนิดของโรคแล้วก็จะวางแผนร่วมกันเพื่อใส่ขั้วไฟฟ้าเข้าไปในสมองตรวจวัดหาตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดการชัก และตรวจวัดการทำหน้าที่ของสมองเพื่อวางแผนผ่าตัด
“สถาบันประสาทวิทยา ถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกประเทศไทยที่ผ่าตัดวิธี Stereoelectroencephalography (SEEG) และเป็นสถาบันเชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง ที่นำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้ในการรักษาโรคลมชักเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยทุกสิทธิ์การรักษาสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดได้ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยจุดประสงค์สูงสุดคือ การเห็นผู้ป่วยโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลังได้รับการดูแลที่ทันสมัย ได้รับความสะดวกสบาย มีสุขภาพดีและมีความสุข สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้” ว่าที่ ร.ต.ท.หญิง พญ.นภา กล่าว