‘กระทรวงทรัพย์’ ขออนุมัติงบกลาง 370 ล้านรับมือภัยพิบัติฯ พร้อมเล็งตั้งศูนย์ตอบโต้และบริหารภัยพิบัติ เพื่อให้ประชาชนได้รับการแจ้งเตือนและมีความแม่นยำมากที่สุด ตั้งเวทีถกปม ‘แผ่นดินไหว’ ระดมความเห็นผู้เชี่ยวชาญเสนอรัฐบาล
เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กรมทรัพยากรธรณี จัดเสวนา “ โลกเดือด แผ่นดินขยับ : อยู่กับความเสี่ยงอย่างไรให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่ประเทศเมียนมา ห่างจากกทม.ประมาณ 1,100 กม. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา และเกิดแผ่นดินไหวตามมา หรือ อาฟเตอร์ช็อก มากกว่า 311 ครั้ง โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีทส. พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว จากทั้งกรม ทรัพยากรธรณี กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงสถาบันการศึกษามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับมือกับความเสี่ยง จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และบทบาทการบริหารจัดการด้านธรณีพิบัติภัย
ทั้งนี้นายเฉลิมชัย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น เป็นบทเรียนสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสนใจ และเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งการเสวนาในวันนี้จะได้ระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญในด้านธรณีวิทยาและแผ่นดินไหว เพื่อที่จะนำมากำหนดเป็นมาตรการในการดำเนินการในอนาคต เพื่อรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในอีก นอกจากนี้ยังได้มีแนวทางในการจัดตั้งศูนย์เซ็นเตอร์ของการตอบโต้ภัยพิบัติและการบริหารภัยพิบัติ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและเทคนิค มาปรับใช้กับร่วมความเห็นนักวิชาการที่มีความรู้เพื่อที่จะสามารถแจ้งเตือนประชาชนให้รวดเร็วและแม่นยำ ในการป้องกันและเฝ้าระวังเหตุแผ่นดินไหว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์อย่างเป็นระบบ
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า อีกทั้งการประชุม ครม.ในวันนี้ ทส.จะนำเสนอต่อ ครม. ถึงการขออนุมัติงบกลาง วงเงินกว่า 370 ล้านบาท เพื่อรับมือ ภัยพิบัติที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น พร้อมแผนการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัด ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงกว่า 600 สถานีทั่วประเทศอีกด้วย
ขณะที่นายจตุพร กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยระบุว่า ในปี 2546 ประเทศไทยมีพื้นที่ความเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติจำนวน 4,444 หมู่บ้านทั่วประเทศ จากนั้นก็มีการสำรวจมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดไทยมีพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าแล้ว ขณะที่แนวโน้มของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในอีก 2-10 ปีข้างหน้า สาเหตุของภัยพิบัติจากทั้ง สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม อาจนำไปสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจ มูลค่า 12.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2050
นายจตุพร กล่าวต่อว่า ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ ถือเป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางต่อภัยพิบัติมากที่สุดในโลก มีจำนวนพิบัติแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 115 ครั้ง ในปี 2555 สู่ระดับสูงสุดที่ 1,800 ครั้ง ในปี 2565 ซึ่งประเทศที่เผชิญกับภัยพิบัติมากที่สุด คืออินโดนีเซีย รองลงมาคือฟิลิปปินส์ และประเทศไทยเป็นอันดับสาม ซึ่งแผ่นดินไหว เป็นภัยที่กระทบต่อประชากรอาเซียนและเศรษฐกิจ ถึงร้อยละ 57 หรือคิดเป็นประชากรกว่า 359 ล้านคน มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปลัดทส. กล่าวว่า สำหรับบทบาทของทส. มองความเป็นไปได้ในการตั้งศูนย์ เซ็นเตอร์ของการบริหารและตอบโต้ภัยพิบัติ เน้นการใช้เทคโนโลยีและเทคนิคที่กระทรวงฯ มีมาปรับใช้ร่วมกับความเห็นนักวิชาการที่มีความรู้ เพื่อที่จะสามารถแจ้งเตือนให้กับประชาชนได้รับทราบได้ไวและแม่นยำ รวมถึงรู้จักวิธีการปรับตัวและรับมือได้อย่างถูกต้อง ป้องกันข้อมูลที่สับสนจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก
นายจตุพร กล่าวอีกว่า อีกทั้งปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีมีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติแล้ว จากนี้ก็จะเน้นในเรื่องของการนำเครื่องไม้เครื่องมือไปวาง เพื่อที่จะให้ประชาชนได้รับทราบการแจ้งเตือนที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง ขณะเดียวกันการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเตรียมความพร้อม ป้องกัน แก้ไขและฟื้นฟูภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำในการจัดการความเสี่ยง ไม่ใช่เพียงแต่รอรับความช่วยเหลือจากภายนอกเท่านั้น