ส.ส.ปชน.ยื่น 10 ข้อเสนอ ก.แรงงาน ดูแล-เยียวยาแรงงานตึก สตง.ถล่ม
วันนี้ (9 เมษายน 2568) ที่กระทรวงแรงงาน กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาชน (ปชน.) นำโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นายเซีย จำปาทอง และ นายสหัสวัต คุ้มคง เข้าพบ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือข้อเสนอการดูแลและเยียวยาแรงงานจากเหตุการณ์ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ถล่ม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา
นายเซีย เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุได้ลงพื้นที่บริเวณตึกถล่ม ได้พูดคุยสอบถามผู้รับเหมาช่วงก่อนจะรวบรวมข้อมูลเสนอเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งมาตรการป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ ก่อนนำมายื่นข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในวันนี้
“ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขของผู้สูญหายและเสียชีวิตที่ชัดเจน โดยมองว่าหากได้มีการประสานกับผู้รับเหมาให้นำข้อมูลแรงงานในไซต์ก่อสร้างออกมาเปิดเผยว่ามีทั้งหมดกี่คน เพื่อที่จะดูรายละเอียดว่ามีแรงงานที่เป็นคนไทยและต่างชาติกี่คน จะได้หาแนวทางช่วยเหลือต่อไป สำหรับผู้เสียชีวิต หากมีรายชื่ออยู่ในระบบประกันสังคมแล้ว มองว่าไม่น่ากังวล เพราะมีรายละเอียดครบถ้วน แต่ในส่วนของผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ก็อยากให้มีมาตรการเยียวยาในลักษณะเดียวกัน” นายเซีย กล่าว
ด้าน นายวิโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานมีการผ่อนปรน แต่ยังอยู่ภายใต้กฎหมายสำหรับนายจ้างของแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วประสบเหตุตึกถล่มอยากให้เข้ามาให้ข้อมูลขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฏหมายเพื่อที่จะได้รับสิทธิชดเชยเยียวยา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอมี 10 ประเด็น ประกอบด้วย
1.ขอความร่วมมือให้บริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งผู้รับเหมาหลักและผู้รับเหมาช่วง ส่งรายชื่อผู้รับเหมาช่วงและลูกจ้างทั้งหมด พร้อมหลักฐานการนำส่งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองทุนเงินทดแทน เพื่อดำเนินการชดเชยเยียวยาต่อไป
2.พิจารณากำหนดมาตรการให้ สปส. และสำนักงานกองทุนเงินทดแทน พิจารณานำเงินในกองทุนเงินประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนมาใช้ในการชดเชยเยียวยาให้ลูกจ้างและทายาททั้งหมด โดยไม่มีการแยกลูกจ้างในกองทุนหรือนอกกองทุน และให้ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานในการบังคับใช้กฎหมายกับนายจ้างที่ไม่นำส่งประกันสังคมต่อไป
3.กำหนดมาตรการการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานในการเยียวยาและให้ความรับผิดชอบในการชดเชย โดยให้นายจ้างชั้นต้น (บริษัทที่รับเหมาหลัก) ร่วมรับผิดชอบในค่าชดเชยร่วมกับผู้รับเหมารายย่อย
4.อำนวยความสะดวกในการพิสูจน์ตัวตนและทายาทในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยให้มีจุดประสานงานที่ชัดเจน เพื่อทำงานตรวจสอบและดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้อย่างครอบคลุม
5.ประสานงานตั้งจุดประชาสัมพันธ์และตั้งเบอร์โทรกลาง ประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงเพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการพิสูจน์ตัวตนทายาทอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทายาทของทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด รวมถึงจัดหาล่ามและจัดทำเอกสารข้อมูลที่เป็นภาษาของแรงงาน ระบุขั้นตอนที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ประสานงานกับสถานทูตของประเทศต้นทางอย่างใกล้ชิดเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการ
6.มีมาตรการผ่อนผันด้านเอกสารแรงงานในระหว่างที่มีการดำเนินการขอใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนสำหรับลูกจ้างในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างตึกดังกล่าว เพื่อจัดเก็บข้อมูลและอนุญาตให้นายจ้างสามารถส่งเงินสมทบประกันสังคมย้อนหลังเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิในการเยียวยา อาจจะเปิดขึ้นทะเบียนในสถานการณ์ภัยพิบัติจากการประกาศเขตภัยพิบัติ งด เว้นค่าใช้จ่าย เพื่อจูงใจให้นายจ้างนำแรงงานมาขึ้นทะเบียน ต้องตั้งเป้าเยียวยาทุกคนเป็นหลัก เรื่องการจ้างแรงงานผิดกฎหมายเป็นเรื่องหลังจากนี้
7.มีกระบวนการตรวจสอบการจ่ายค่าจ้างที่ลูกจ้างได้ทำงานมาแล้ว เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสไม่จ่ายค่าจ้าง
8.ประสานงานและตรวจสอบลักษณะการจ้างงานของลูกจ้างในบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการเยียวยาแรงงาน
9.พิจารณานำเงินกองทุนที่เกี่ยวข้องมาช่วยเยียวยาครอบครัวและแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดโดยเร่งด่วน
10.กำหนดแนวทางตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงพิจารณาออกแนวทางในการกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการทำงานในกิจการก่อสร้าง