สคอ.เผยสงกรานต์ปี’67 เหยื่อดื่มแล้วขับสูงถึง 207 ราย จับมือเครือข่ายเร่งรณรงค์
วันนี้ (9 เมษายน 2568) นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์ปี 2568 วันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน ประชาชนส่วนมากจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อการท่องเที่ยว หรือเดินทางกลับภูมิลำเนา เยี่ยมครอบครัว การเดินทางของประชาชนส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์เป็นหลัก โดยเดินทางรวมกลุ่มหรือหมู่คณะมากกว่าปกติ หากเกิดอุบัติเหตุจึงมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต และการบาดเจ็บที่มีความรุนแรงมากกว่าช่วงเวลาปกติ ซึ่ง สคอ.และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมสื่อสารประชาสัมพันธ์เช่นเดียวกัน เน้นย้ำเรื่อง “ดื่มแล้วขับ อาจเป็นฆาตกร” เพื่อสร้างความตระหนักขับขี่ปลอดภัยและสื่อสารกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังถูกดูดซึมเข้าร่างกายส่งผลต่อการขับขี่ ทำให้ตอบสนองช้าลง ตัดสินใจเบรกไม่ทัน กะระยะผิดพลาด นำไปสู่อุบัติเหตุและการสูญเสีย
“การตัดสินใจขับขี่เพียงเสี้ยววินาที อาจเป็นตัวแปรที่เปลี่ยนชีวิตของผู้ใช้ถนนไปตลอดชีวิต ซึ่งสงกรานต์ที่ผ่านมา มีเหยื่อจากผู้ดื่มแล้วขับสูงถึง 207 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ราย และจากข้อมูลของศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน ( ศปถ.) ได้สรุปสถิติอุบัติทางถนนสะสม 7 วัน (วันที่ 11-17 เมษายน 2567) เกิดอุบัติเหตุสะสมรวม 2,044 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 2,060 ราย ผู้เสียชีวิต 287 ราย สาเหตุเกิดจากขับเร็ว ร้อยละ 41.49 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.7 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 18.1” นายพรหมมินทร์ กล่าว
ผู้อำนวยการ สคอ.กล่าวว่า สำหรับการเดินทางไกลควรยึดหลักการ “รถพร้อม คนพร้อม” คือ 1.คนพร้อม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ ไม่กินยาแก้ปวด แก้แพ้ หรือแก้หวัดที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง ศึกษาเส้นทางก่อนออกเดินทาง เคารพกฎจราจร มีวินัยในการขับขี่ หาข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน 2.รถพร้อม ตรวจเช็กสภาพรถก่อนออกเดินทาง เช่น เข็มขัดนิรภัย น้ำมันเบรค ผ้าเบรค น้ำมันเครื่อง อุปกรณ์ไฟ น้ำในหม้อน้ำ เช็กลมยาง เตรียมอุปกรณ์ประจำรถที่จำเป็น
“นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือ การทำประกันภัยรถช่วงสงกรานต์แม้เพียงเวลาสั้นๆ แค่ 7 วัน ก็สามารถเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้ และปัจจุบันค่าเบี้ยทำประกันภัย หรือ พ.ร.บ.รถไม่กี่บาท และเมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับหากเกิดเหตุ จากข้อมูลของบริษัททกลางคุ้มครองผู้ประภัยจากรถ จำกัด ระบุว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่า ช่วง 7 วัน มีผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันภัย พ.ร.บ. เนื่องจากรถคันที่เกิดเหตุไม่มีประกันภัย พ.ร.บ. สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 34 ดังนั้น จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มีรถและเดินทางในช่วงเวลาเทศกาลต้องตรวจสอบว่ารถตนเอง มี พ.ร.บ.และประกันภัยครบหรือไม่ หากยังไม่มี ต้องรีบไปดำเนินการโดยด่วน เพื่อเป็นหลักประกันว่า หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงทีตามกฎหมาย หากยังไม่มี ต้องรีบไปดำเนินการโดยด่วน เพื่อเป็นหลักประกันว่า หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงทีตามกฎหมาย และ 3.พักรถ พักคน หยุดพักรถเป็นระยะๆ เพื่อให้รถยนต์ได้พัก และระหว่างนี้ผู้ขับสามารถยืดเส้นยืดสาย คลายความเมื่อยล้าจากการขับรถ” นายพรหมมินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า เมื่อถึงยังพื้นที่จุดหมายปลายทางแล้ว ยังมีความเสี่ยงในการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น คือ หากเข้าไปยังพื้นที่เล่นน้ำต้องระวังถนนลื่น ไม่ควรนั่งท้ายกระบะ เหตุทะเลาะวิวาท ลวนลาม และเมื่อขับรถไปเจอคนเล่นสาดน้ำให้ลดความเร็วลง เว้นระยะห่างจากคันหน้ามากกว่าปกติให้อยู่ในระยะปลอดภัย จะช่วยให้เบรกได้ทัน ที่สำคัญคือ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและขณะขับขี่โดยเด็ดขาด เพื่อให้สามารถควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นการทำผิดกฎหมาย เพราะเทศกาลนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการประสานงานกับกำนันผู้ใหญ่บ้านคุมเข้มในพื้นที่แบ่งเป็น 3 สี คือ ปกติ = สีเขียว หากมีการตั้งวงดื่ม = สีเหลือง ส่วนกิจกรรมเฉลิมฉลอง มีเวทีดนตรีหรือคอนเสิร์ต = สีแดง ต้องคุมเข้มเป็นพิเศษ