‘สมศักดิ์’ นำทีม สธ.เปิดศูนย์ EOC สแตนด์บายสงกรานต์ 24 ชม.
วันนี้ (10 เมษายน 2568) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นายพิเชษฐ์ หนองช้าง เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมแถลงเตรียมความพร้อมรองรับเทศกาลสงกรานต์ 2568 ของ สธ. ภายใต้หัวข้อ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย ใช้อุปกรณ์นิรภัยตลอดการเดินทาง”
นายสมศักดิ์กล่าวว่า เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ สธ.ห่วงใยและมีความปรารถนาดีต่อประชาชนที่กำลังเตรียมตัวเดินทางเพื่อไปร่วมฉลองเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงวันผู้สูงอายุ และวันครอบครัว กับญาติพี่น้อง ทั้งนี้ ขอให้วางแผนการเดินทางล่วงหน้า เพื่อให้กลับถึงบ้านได้อย่างปลอดภัย
“จากสถิติอุบัติเหตุใหญ่ทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567-วันที่ 5 มกราคม 2568 มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 31 เหตุการณ์ สาเหตุเกิดจากคนร้อยละ 93 พบว่า สาเหตุอันดับ 1 เกิดจากการขับรถเร็ว อันดับ 2 หลับใน อันดับ 3 ตัดหน้ากระชั้นชิด อันดับ 4 ดื่มแล้วขับ นอกจากนี้ ยังพบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตและบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากการไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ควรเตรียมตัวเองให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอก่อนการเดินทาง ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย เคารพกฎจราจร เพื่อความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุทางถนน” นายสมศักดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงมติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นายสมศักดิ์กล่าวว่า มีมติให้ใช้หัวลำโพงจัดกิจกรรมได้และสามารถดื่มเครื่องดื่มได้ สามารถขออนุญาตในช่วงระยะเวลาสั้นๆ 1-2 วัน โดยเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการ สธ. ทั้งนี้ จะต้องออกเป็นระเบียบอาจจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเริ่มดำเนินการได้เมื่อกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่ายังไม่ทันสงกรานต์นี้ ส่วนเรื่องดื่มบนขบวนรถ ยังไม่ได้หยิบยกมาพิจารณา
นพ.โอภาสกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเดินทางหนาแน่น เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตสูง จึงได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ทั้งในส่วนกลางและจังหวัด เพื่อประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สนับสนุนการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประสานงานกับ อปท.ในพื้นที่เพื่อจัดตั้ง “ชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน” สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งทีมปฏิบัติการ ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (BLS) และขั้นสูง (ALS) ในพื้นที่ห่างไกลโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถเข้าถึงและช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
“นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในโรงพยาบาล เช่น เหตุทะเลาะวิวาท หรือภัยพิบัติ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สธ.ยังให้ความสำคัญกับการป้องกัน โดยสนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาสาเหตุ จุดเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุ พร้อมทั้งดำเนินมาตรการป้องกันและประชาสัมพันธ์รณรงค์ในพื้นที่ให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยในการเดินทาง” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.ภาณุมาศกล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ดำเนิน 4 มาตรการหลัก เพื่อลดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ ได้แก่ 1.ขับเคลื่อนแบบบูรณาการร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน 2.จัดทำแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าและประชาชนตระหนักถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3.ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงในชุมชน ตามแนวทาง “3 ต.” ได้แก่ ตระเตรียมโดยให้ความรู้แก่ร้านค้า ติดตามและตักเตือน เฝ้าระวังการดื่มขับในชุมชน 4.บังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ อย่างเข้มงวด และในปีนี้ กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ดำเนินการรถตู้สาธารณะปลอดภัย โดยเน้นความพร้อมทั้งสภาพรถและพนักงานขับรถ รวมทั้งการรณรงค์การคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เพื่อป้องกันภัยสุขภาพจากภาวะอับอากาศ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นในช่วงที่อากาศร้อนและการจราจรคับคั่ง โดยหากพบผู้โดยสารมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก รู้สึกตัวน้อยลง ถ้ามีอาการพร้อมกันหลายคน อาการดังกล่าวอาจเกิดจากภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำจากภาวะอับอากาศ หรือการปนเปื้อนของก๊าซพิษจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบเปิดหน้าต่างระบายอากาศ จอดรถในที่ปลอดภัย และให้ผู้โดยสารออกจากรถไปยังที่ที่มีอากาศถ่ายเท โทรแจ้ง 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ
ขณะที่ นพ.ภานุวัฒน์กล่าวว่า สบส.ร่วมกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ ร่วมใจกันดูแลความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ ผ่านมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตามแนวทาง “สงกรานต์ปลอดภัย อสม.ร่วมใจดูแล” โดยในปีนี้ อสม. ซึ่งเป็นเครือข่ายสุขภาพที่เข้มแข็งและใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่ จะร่วมสนับสนุนภาครัฐในการดำเนินการ ดังนี้ 1.ชี้เป้าจุดเสี่ยงและกลุ่มเสี่ยง อสม.ในแต่ละพื้นที่จะสำรวจ จัดทำจุดเสี่ยงถนนที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย กลุ่มเสี่ยงต่อพฤติกรรม ดื่มขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย ช่วงเวลาเสี่ยง เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและตักเตือนเชิงรุก 2.ประชาสัมพันธ์และตักเตือน อสม.จะให้ความรู้กับประชาชนผ่านการรณรงค์ ตักเตือน และแจ้งเตือนภัย เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัยและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด 3.การตั้งด่านชุมชนป้องปรามความเสี่ยง อสม.จะร่วมกับผู้นำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตั้งด่านชุมชน เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น คนเมา หรือผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงออกสู่ถนนใหญ่หรือนอกหมู่บ้าน
นายพิเชษฐ์กล่าวว่า สพฉ.เตรียมพร้อมรับมือ โดยได้จัดทำสื่อและประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนมาตั้งแต่ก่อนเทศกาล เพื่อให้ประชาชนตระหนักและระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงความปลอดภัยในการเล่นน้ำสงกรานต์ เพื่อลดอุบัติเหตุและความสูญเสีย และยังได้มอบหมายให้ศูนย์นเรนทร สพฉ.ดำเนินการเตรียมความพร้อมและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนน รองรับเทศกาลสงกรานต์ 1.บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุ โดยจัดให้มีผู้บริหาร สพฉ.เข้าร่วมประชุมกับศูนย์ และรายงานข้อมูลในช่วงวันที่ 12-18 เมษายน 2568 2.ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ผ่านระบบสารสนเทศ (IDEMS) 3.แจ้งและประสานความร่วมมือหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ สสจ. และหน่วยปฏิบัติการแพทย์ทุกจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกปฏิบัติการฉุกเฉินในช่วงเทศกาล 4.เตรียมความพร้อม Thai Sky Doctor โดยการประชุมและประสานงานหน่วยปฏิบัติการแพทย์เฉพาะทาง สาขาฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศ และหน่วยสนับสนุนอากาศยานทุกหน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ 5.ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน สพฉ.ลงเยี่ยมพื้นที่ ส่งเสริมขวัญและกำลังใจ สนับสนุนการเตรียมความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการ ทั้งนี้ สพฉ.มีความพร้อมดูแลความปลอดภัยครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ