เผยสำรวจไป 6 วัน ผลโหวตสูสี ต้องการ ‘ปฏิทินประกันสังคม’ หรือไม่
ตามที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้จัดทำแบบสอบถามหรือแบบสำรวจเชิญชวนผู้ประกันตนทั้ง มาตรา 33, 39 และ 40 เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการในการจัดทำปฏิทินประจำปีของ สปส. เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการผลิตในปี 2570 หลังจากที่มีกระแสไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณดังกล่าว โดยเปิดระบบแสดงความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2568 นั้น
เมื่อวันที่ 10 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการฝ่ายผู้ประกันตน ในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ชุดที่ 14 ได้โพสต์เฟซบุ๊กข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน 2568 เวลา 21.29 น. พบว่า มีผู้ประกันตนร่วมตอบแบบสอบถาม จำนวน 6,671 คน โดยแบ่งเป็น แสดงความต้องการ จำนวน 3,402 คน คิดเป็นร้อยละ 51 และแสดงความไม่ต้องการ จำนวน 3,269 คน ร้อยละ 49 พร้อมระบุว่า ขณะนี้ผลการโหวตเบื้องต้น มีความต้องการให้จัดทำปฏิทินประกันสังคมสูงกว่าผู้ที่ไม่ต้องการ พร้อมขอให้ผู้ประกันตนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เข้าร่วมโหวตก่อนสิ้นเดือนเมษายนนี้
วันเดียวกัน นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กรรมการฝ่ายผู้ประกันตน ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมบอร์ดประกันสังคม ว่า การที่ผู้ประกันตนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่ามีความต้องการให้ สปส.จัดทำปฏิทินอยู่ จะมีผลต่อการใช้งบของ สปส. โดยงบของ สปส. จัดตั้งไว้เป็นแบบปีต่อปี หากผลการทำแบบสอบถามออกมาว่า เห็นด้วยให้มีการจัดทำปฏิทิน จะใช้งบกว่า 60 ล้านบาทต่อปี
“ควรจะมีการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้เพิ่งจะวันที่ 10 เมษายน และ สปส.ก็อาจจะไม่ได้มีการกระจายแบบสอบถามให้ทั่วถึง มองว่าผู้ประกันตนที่ทำแบบสอบถามคือผู้ที่อยู่ในระบบ หรือเคยได้รับปฏิทินที่อาจจะมีความรู้เรื่องนี้มากกว่า เลยทำให้ผลการสำรวจออกมาเป็นเช่นนั้น แต่ว่าคนที่ไม่ได้เห็นด้วย คือคนที่ไม่เคยได้ปฏิทิน ทำให้อาจจะยังไม่ทราบว่ามีแบบสำรวจตรงนี้ออกมา กลายเป็นว่าผลสำรวจที่ออกมาทำให้ผลออกมาใกล้เคียงกัน” นายธนพงษ์ กล่าวและว่า อยากให้ สปส.มีการประชาสัมพันธ์มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้ามาทำแบบสำรวจมากขึ้น ที่ผ่านมา ตามกระแสข่าวมีผู้ประกันตนไม่อยากได้ปฏิทินมากกว่า แต่ผลสำรวจที่ออกมากลับกลายเป็นว่ามีผู้ประกันตนที่อยากได้ปฏิทินมากกว่า อาจเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ของ สปส. ที่ไม่ได้กระจายถึงผู้ประกันตนจริงๆ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ผู้ประกันตนไม่สะดวกหรือเข้าไม่ถึงในการทำแบบสอบถามในรูปแบบออนไลน์ จะมีการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมหรือไม่ นายธนพงษ์ กล่าวว่า จริงๆต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้กว้างออกไป โดยในส่วนของ สปส. ประจำจังหวัดต่างๆ ก็จะมีการทำแบบสอบถามในรูปแบบของกระดาษ (paper) เพิ่มเติม หากมีผู้เข้ามาติดต่อสปส. ก็จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทำแบบสอบถามดังกล่าว แต่ผู้ประกันตนอาจจะไม่ทราบ หรือในแต่ละจังหวัดก็ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ที่จริงจัง
“เรามองในเรื่องของการกระจายปฏิทินมากกว่า บางทีปฏิทินประกันสังคมกระจุกตัวอยู่ที่สภาองค์การลูกจ้าง-นายจ้างเป็นหลัก ไม่ได้กระจายถึงผู้ประกันตนจริงๆ หลายๆ สปส.จังหวัดอยากได้ปฏิทินเพิ่มเติม แต่ส่วนที่ได้มากสุด คือ สภาองค์การลูกจ้าง ที่ได้ถึงกว่า 1 ล้านฉบับ ไม่ได้กระจายถึงผู้ประกันตนจริงๆ” นายธนพงษ์ กล่าวและว่า ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จะดูปฏิทินในโทรศัพท์มากกว่า และมองว่าในแบบสอบถาม ควรถามเพิ่มเติมว่าถ้าไม่ต้องการปฏิทิน อยากนำงบที่จัดทำปฏิทินไปทำในส่วนใดด้วย