‘จอมมารบู’ เครนยักษ์ซ่อมเสร็จแล้ว ลุยซากเหล็ก เคลียร์กองปูน โซน A กทม.อัพเดทยอดดับ 27 ราย
เมื่อวันที่ 11 เมษายน เวลาประมาณ 22.00 น. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. เผยแพร่คลิปการทำงานของ SK 1000 หรือ ‘จอมมารบู’ รถเครนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซี่งก่อนหน้านี้เกิดขัดข้อง ต้องทำการซ่อมบำรุง โดยนายชัชชาติ ระบุระหว่างการแถลงข่างในช่วงค่ำ ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เขตจตุจักร กรุงเทพ ว่า คาดว่าไฮดรอลิกแตก
โดยล่าสุด สปภ. กทม เปิดเผยว่า SK 1000 ดำเนินงานรื้อถอนซากเหล็กและกองปูนที่โซน A
ทั้งนี้ นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า สำหรับยอดผู้ประสบเหตุจากอาคาร สตง. ณ เวลา 16.00 น. มีจำนวน 103 ราย เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 9 ราย อยู่ระหว่างติดตาม 67 ราย
ส่วนการแจ้งเหตุอาคารมีรอยร้าวจากประชาชนใน Traffy Fondue รวมทั้งสิ้น 19,163 เคส แบ่งเป็น ปลอดภัยต่อการใช้งาน (เขียว) 17,225 เคส เหลือง 387 เคส สีแดง 34 เคส (2 อาคาร) อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 1,517 เคส ทั้งนี้ มีหนังสือแจ้งเข้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร ให้ดำเนินการประสานผู้ตรวจสอบอาคารเข้าตรวจสอบ โดยแจ้งเจ้าของอาคารแล้วกว่า 5,000 โครงการ แจ้งว่าปลอดภัยต่อการใช้งานสะสม 2,938 โครงการ รายงานซ่อมแซมเฉพาะจุด 173 โครงการ และมีหนังสือแจ้งเข้าของอาคาร ผู้รับเหมาให้ระงับการใช้เครน จนกว่าจะมีการตรวจสอบ ซึ่งเครนมีจำนวน 201 โครงการ รายงานว่าปลอดภัยแล้ว 123 โครงการ
ด้านการดูแลช่วยเหลือประชาชน และการเยียวยา/การช่วยเหลือ สถานะล่าสุด ยอดรวมที่ดำเนินการลงเบียนกับ Airbnb แล้ว จำนวน 613 ครัวเรือน 1. คอนโดไลฟ์ ลาดพร้าว แวลลีย์ เขตจตุจักร – คอนโดสกายไรส์ อเวนิว สุขุมวิท 64 เขตพระโนขง จำนวน 436 ครัวเรือน 2. คอนโด/ที่พักอื่นๆ คัดเลือกจากกลุ่มเปราะบาง และความจำเป็น เช่น ผู้ประสบภัยที่เข้าอาคารไม่ได้ อาศัยอยู่จริงก่อนเกิดเหตุ แผ่นดินไหว คนพิการ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ดูแลบุคคลที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้ขาดความสามารถ ในการหาที่อยู่ โรคประจำตัว รายได้ อาชีพ จำนวนคนในครัวเรือน เป็นต้น จำนวน 177 ครัวเรือน รวมทั้งศูนย์พักพิง โรงเรียนวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร รองรับได้ 150 คน ว่าง 150 ที่ และศูนย์พักคอยญาติ เขตจตุจักร จำนวน 1 แห่ง รองรับได้ 82 คน เข้าพัก 73 คน ว่าง 9 ที่
สำหรับการเยียวยาตามระเบียบ กทม. ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2564 ผู้ประสบภัย สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ทุกแห่ง ภายใน 30 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ (ภายในวันที่ 27 เมษายน 2568) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวก รับแจ้งความที่สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ในเวลาราชการ โดยการประเมินเป็นไปตามการประเมินของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายโดยรายงานไปยังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่อไป
