เมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน ว่า ในวันที่ 11 เมษายน ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เกิดอุบัติเหตุ 211 ครั้ง เทียบกับวันแรกของช่วงรณรงค์เทศกาลสงกรานต์ปี 2567 พบว่าลดลง ร้อยละ 13.52 โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ มุกดาหาร จำนวน 11 ครั้ง ส่วนผู้บาดเจ็บมี 201 ราย ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 19.92 ส่วนผู้เสียชีวิต 27 ราย ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 27.03
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากสุดยังคงเป็น ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด รองลงมา ตัดหน้ากระชั้นชิด และดื่มแล้วขับ ตามลำดับ สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ประสบเหตุที่พบมากสุด คือ ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และตัดหน้ากระชั้นชิด นอกจากนี้ ด่านชุมชน 7,371 ด่าน ได้มีการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง พบไม่สวมหมวกนิรภัย 12,847 คน ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5,137 คน ดื่มแล้วขับ 1,237 คน ความปลอดภัยของยานพาหนะ 922 คน และใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ 586 คน ขณะที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว 1,470 ชุด ได้ลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน 929 ครั้ง ตรวจจุด Zoning เล่นน้ำ 480 ครั้ง และจุดที่มีงานประเพณี 489 ครั้ง
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ในส่วนกระทวงสาธารณสุข ได้ร่วมดูแลผู้ใช้รถใช้ถนนตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเน้นย้ำด่านชุมชน ป้องปรามไม่ให้คนเมาหรือผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงขับขี่ออกสู่ถนนใหญ่หรือนอกหมู่บ้าน สำหรับผู้ขับขี่ขอให้ระมัดระวังการใช้ยาในกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ เนื่องจากมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วง ซึ่งส่งผลต่อสมรรถนะการขับขี่และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้ ได้สื่อสารไปยังจุดบริการประชาชนให้ช่วยย้ำเตือนเรื่องการใช้ยาของผู้ขับขี่ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุ โดยหากมีอาการง่วงเมื่อขับขี่ ขอให้พักหลับประมาณ 10 นาที เพื่อให้ร่างกายสดชื่นและสามารถขับรถต่อไปได้