สธ. แจงยิบเหตุ ‘หมออินเทิร์น’ ลาออก 10 จาก 16 คน ชี้ปัญหาไม่ได้มาจากงาน แต่เพราะทำงานไกลบ้าน

ผู้ตรวจสธ. แจงยิบเหตุ ‘หมออินเทิร์น’ ลาออก 10 จาก 16 คน ชี้ปัญหาไม่ได้มาจากงาน แต่เพราะทำงานไกลบ้าน

เมื่อวันที่ 13 เมษายน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเท็จจริงกรณีนักเรียนแพทย์หลักสูตรแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 หรือ หมออินเทิร์น 1 (Internship) ใน จ.บึงกาฬ ลาออกทั้งหมด ว่า ข่าวที่ออกมากลายเป็นดราม่าเกินจริง เพราะจากการตรวจสอบไม่ได้ลาออกทั้งระบบ เรื่องนี้ต้องเข้าใจบริบทของจังหวัดบึงกาฬก่อนว่า มีลักษณะปัญหาเดิมๆ คือ เด็กส่วนใหญ่ที่ไปเป็นอินเทิร์น จบมาจากคณะแพทยศาสตร์ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ซึ่งไม่ใช่กลุ่มที่จบจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD)

“ดังนั้น ทุกปีจะไม่ค่อยมีเด็กในโครงการ CPIRD จึงทำให้เป็นจังหวัดที่ต้องได้รับการจัดสรรแพทย์จาก กสพท.เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเด็กส่วนกลางหรือที่อื่นจับสลากและไปลงที่ จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นตัวเลือกท้ายๆ ก่อนสามจังหวัดชายแดนใต้ก็ว่าได้ จึงเป็นปัญหาทุกปีที่หมออินเทิร์นมาอยู่แล้วลาออกตลอด เพราะไม่ใช่หรือไม่ใกล้กับภูมิลำเนาตัวเอง เพียงแต่ว่า ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข แก้ปัญหามาตลอดทุกปี ” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬ มีโรงพยาบาลจังหวัด 1 แห่ง 200 กว่าเตียง มีโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก และมีโรงพยาบาลชุมชนประมาณ 7 แห่ง ซึ่ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เห็นความสำคัญและปัญหาของพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 โดย 2 ปีแล้วที่ให้สัดส่วนจำนวนแพทย์อินเทิร์น แบบเต็มความสามารถของแพทย์ผู้ฝึก หรือ “สตาฟ” ตามข้อกำหนดของแพทยสภา อย่างปีที่ 2567 มีหมออินเทิร์นทั้งเขตสุขภาพที่ 8 รวม 254 คน และปี 2568 ให้ 246 คน ซึ่งทั้งเขตสุขภาพก็มีหมออินเทิร์น 1 ลาออกเช่นกัน เพราะหากเป็นกลุ่ม กสพท.ก็มักจะออกเนื่องจากมาจากต่างถิ่น และต้องการไปเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร

ADVERTISMENT

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมาได้หมออินเทิร์น มาฝึกที่ จ.บึงกาฬ 16 คน โดยในจำนวนนี้ที่อยู่ รพ.บึงกาฬ และต้องฝึก 9 เดือน และอีก 3 เดือนไปอยู่ รพ.ชุมชน ใน 16 คน ณ ตอนนี้แสดงความจำนงขอลาออกไป 10 คน ก็จะเหลือ 6 คนที่จะอยู่ทำงานปีที่ 2 ต่อ ซึ่งน้องที่เหลือ 6 คนเป็นเด็กจาก กสพท.จากส่วนกลาง แต่น้องยังอยากทำงานที่นี่อยู่ นอกจากนี้ ยังมีเด็กที่วางแผนว่า ปี 2 และปีที่ 3 จะให้มาอยู่บึงกาฬ มีอีก 5 คน ซึ่งฝากฝึกไว้ที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี เนื่องจากรพ.บึงกาฬ รับฝึกเด็กได้มากที่สุดคือ 16 คน จึงจำเป็นต้องฝากฝึกไว้ที่รพ.ศูนย์อุดรธานี เมื่อครบ 1 ปีก็จะต้องกลับมาอยู่รพ.ชุมชนในบึงกาฬ

“ในจำนวน 5 คนที่เราส่งฝึกรพ.ศูนย์อุดรฯ มีลาออก 3 คน แสดงว่าเหลือน้อง 2 คน ที่จะกลับมารพ.ชุมชนในปีที่สอง ดังนั้น ในปีที่สอง จะมีน้องอินเทิร์นมาอยู่ 8 คน คือ 6 คนจากรพ.บึงกาฬ และ 2 คนจากรพ.ศูนย์อุดรฯ จะเหลือน้องอินเทิร์น 8 คนที่จะอยู่ใน รพ.ชุมชนที่จ.บึงกาฬ” นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

ADVERTISMENT

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า ในรพ.ชุมชน ที่มีแพทย์ทั่วไป และผู้อำนวยการรพ. จะมีอยู่ 24 คน แพทย์เฉพาะทางอีก 7 คนใน 7 อำเภอ ซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เพียงพอแน่นอน ดังนั้น จึงวางแผนว่า ในช่วงที่หมออินเทิร์นจะมาใหม่ในปีแรก ช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งทางกระทรวงฯ จัดสัดส่วนหมออินเทิร์นเติมเข้ามาในจังหวัดเต็มตามข้อกำหนดของแพทยสภา คือ 16 คน ซึ่งจะอยู่ที่รพ.จังหวัด แต่บางส่วนก็ต้องออกรพ.ชุมชนด้วย แต่ช่วงแรก เพิ่งฝึกฝนยังไม่สามารถออกได้ จึงให้ทั้งหมดที่มาอยู่รพ.จังหวัดในช่วง 2 เดือนแรก และสธ. จะหาหมออินเทิร์นปีที่ 2 และ 3 ที่มีความสามารถมากขึ้นภายในเขตสุขภาพที่ 8 จากจังหวัดอื่น มาหมุนเวียนเพื่อช่วยบึงกาฬ จำนวน 9 คน

“หมอที่มาช่วยก็เพื่อรอหมออินเทิร์น 16 คน ที่กำลังฝึกอยู่ โดยหมออินเทิร์น 3 เดือนต้องไปอยู่รพ.ชุมชน ประมาณ 1 ใน 4 แสดงว่าต้องอยู่รพ.บึงกาฬครั้งละ 12 คน ข้างนอก 4 คน จริงๆก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องจัดแพทย์จากปี 2 และปี 3 จากจังหวัดใกล้เคียงมาช่วย รพ.บึงกาฬ คือ มาประจำวอร์ด 5 วอร์ด คือ ‘สู ศัลย์ เมด เด็ก’ หากต้องอยู่วอร์ดละ 2 คน แสดงว่า 1 เดือนต้องการน้องหมอถึง 10 คน เป็นแพทย์ใช้ทุนปี2 ปี 3 จากจังหวัดอื่นภายในเขตสุขภาพที่ 8 โดยให้มาอยู่คนละเดือน คิดว่าสามารถทำได้ เพราะมีน้องหมอปี 2 และปี 3 ในจังหวัดอื่นอีกประมาณ 200 คน” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

เมื่อถามว่าการลาออกเกี่ยวกับระบบบริหารของสธ. ที่มีเรื่องภาระงานที่หนัก และค่าตอบแทนน้อยหรือไม่ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ตนได้รับทราบมาจากทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งท่านระบุว่ามีการดูแลหมออินเทิร์นดี ค่าตอบแทน ค่าเวรตามสมควร ขณะที่ การจัดระบบบริการ ก็ขอให้ รพ. ใหญ่ๆ ในจังหวัดใกล้เคียงรับเคสที่ส่งต่อมาจาก จ.บึงกาฬ

เมื่อถามว่า แพทย์จากจังหวัดอื่นจะยอมมาหรือไม่ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า มีการสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องนี้ และมีแนวทางพิจารณาให้ทุนเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังทำเรื่องขอปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาให้จังหวัดบึงกาฬ เหมือนสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่พิเศษ ถ้าใครมาช่วยงานพิเศษจะมีโอกาสรับทุนการศึกษาเร็วขึ้น โดยขอเป็นการบริหารพื้นที่พิเศษ

“เบื้องต้นท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่ามีความเป็นไปได้ หากผ่านขั้นตอนการพิจารณา ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสมากขึ้น อย่างหากน้องหมอมาช่วย 1 ปีก็มีโอกาสรับทุนเร็วขึ้น เพื่อไปศึกษาต่อด้าน ‘สู ศัลย์ เมด เด็ก’ คือ สูตินรีเวช ศัลยกรรม เมดคือ เมดิซีนหรืออายุรกรรม และกุมารเวช และหากอยู่ 2 ปีมีโอกาสไปเรียนสาขารอง ดังนั้น น้องที่มาเวียนช่วยคนละ 1 เดือน จะมีการบันทึกประวัติไว้” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

เมื่อถามว่าค่าตอบแทนจะได้รับเพิ่มด้วยหรือไม่ หากมีการกำหนดให้แพทย์ที่ปฏิบัติงานในจ.บึงกาฬเป็นพื้นที่พิเศษ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ยื่นเสนอขอไปเหมือนทางสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่จะได้เท่าไหร่ต้องรอการอนุมัติ เพราะยังไม่ทราบว่าจะอนุมัติข้อไหนบ้าง แต่ก็เป็นอีกแนวทางที่คาดว่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะ 3-5 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image