ปธ.สภาลูกจ้างฯ ห่วงสูตรบำนาญใหม่ กระทบแรงงานรุ่นเก่า ค้านควบรวมกองทุนสุขภาพ

ประธานสภาลูกจ้างฯ ห่วงสูตรบำนาญใหม่ กระทบแรงงานรุ่นเก่า ค้านควบรวมกองทุนสุขภาพ เสนอเลือกรพ.ประกันสังคมได้ปีละ 2 ครั้ง

เมื่อวันที่ 13 เมษายน นายมนัส โกศล ประธานสภาลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ตนได้นำคณะกรรมการสภาฯ จำนวน 30 คน และคณะกรรมการพรรคแรงงานสร้างชาติ เข้าพบ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง เพื่อยื่นข้อเสนอและแสดงความห่วงใยใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปรับสูตรคำนวณบำนาญชราภาพ และการย้ายสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของผู้ประกันตน

นายมนัส กล่าวว่า ประเด็นแรกที่น่ากังวลคือการปรับสูตรบำนาญชราภาพใหม่มาใช้แบบ CARE (Career-Average Revalued Earnings) ซึ่งเป็นการเฉลี่ยรายได้ตลอดระยะเวลาทำงานจริงของผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 แทนการคำนวณเฉพาะจากเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดยสูตรใหม่นี้ผ่านมติบอร์ดประกันสังคมแล้ว แต่พบว่าผู้ประกันตนโดยเฉพาะในมาตรา 33 อาจได้รับเงินบำนาญน้อยลงบางส่วน โดยตนได้ให้ฝ่ายวิชาการของทางสภาองค์การลูกจ้างฯ ได้จัดทำรายงานซึ่งเห็นชัดเจนว่าจะได้เงินบำนาญลดลงจริงเป็นบางส่วนจากเดิมคำนวณจากเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ซึ่งมองว่าผู้ประกันตนมาตรา 33 ก็มีความหวังและวางแผนในบั้นปลายชีวิตไว้แล้ว

ADVERTISMENT

“มีกรณีตัวอย่างเช่น นาง A ทำงานมาตั้งแต่ปี 2530 ปัจจุบันเงินเดือนราวกว่า 20,000 บาท แต่เพดานเงินเดือนที่นำมาคำนวณยังคงอยู่ที่ 15,000 บาท ส่งผลให้หากใช้สูตรเดิมจะได้บำนาญประมาณ 5,250 บาท แต่สูตรใหม่อาจลดลงเหลือเพียงกว่า 4,000 บาท ทำให้แรงงานรุ่นเก่าต้องรับผลกระทบ ขณะที่แรงงานรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นด้วยเงินเดือน 17,500 บาท อาจไม่ได้รับผลกระทบ” นายมนัสกล่าว

นาย มนัส กล่าวเพิ่มว่า ไม่ว่าจะเลือกใช้สูตรคำนวณใดก็แล้วแต่ หากไม่ปรับฐานเงินเดือนสูงสุดจาก 15,000 บาทให้ขยับเป็น 20,000-30,000 บาท การพัฒนาระบบบำนาญชราภาพก็อาจจะทำได้ยาก จึงเสนอให้มีการเปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกันตนทั่วประเทศ ทั้งมาตรา 33 และ 39 ซึ่งมีจำนวนกว่า 170,000 คนจะได้รับประโยชน์มากกว่าเมื่อคำนวณสูตรบำนาญใหม่โดยใช้ค่าเฉลี่ยตลอดอายุการทำงานจริง ซึ่งมองว่าจะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และบางส่วนที่เสียประโยชน์

ADVERTISMENT

นายมนัส กล่าวอีกว่า หากจะเปลี่ยนสูตรบำนาญ ต้องมั่นใจว่าสูตรใหม่ให้ประโยชน์ไม่น้อยกว่าสูตรเดิม ไม่ใช่แค่ตามกระแสสังคม กรณีการปรับให้ได้ไม่น้อยกว่าสูตรเดิม หรือใช้วิธีสูตรไหนดีกว่าเลือกสูตรนั้น หากทำแบบนี้ในทางกฎหมายให้ผู้ใช้แรงงานนั้นทำได้ยาก ทั้งนี้ สูตรบำนาญแบบ CARE เป็นสูตรที่สปส. ได้พัฒนาและศึกษามาอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มในส่วนของรายละเอียดการปรับอิงตามค่าเงินปัจจุบันเข้ามา

นายมนัส กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่ 2 ที่เป็นข้อถกเถียงของประชาชนในช่วงที่ผ่านมา คือ ย้ายสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของผู้ประกันตน กล่าวคือการควบรวมกองทุนด้านสุขภาพระหว่างกองทุนประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งตนรวมถึงหลายคนไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว บัตรทองของสปสช. เป็นการรักษาตามมาตรฐานและไม่ต้องสำรองจ่าย แต่ก็ไม่ใช่จะได้รับการรักษาที่ดีเสมอไป โรงพยาบาล (รพ.) ของรัฐก็ไม่เพียงพอ ต้องผ่านระบบปฐมภูมิถึงจะส่งไปรพ.ใหญ่ และต้องรอคิว รวมถึงไม่ครอบคลุมยานอกบัญชียาหลัก ทั้งนี้มองว่าหากจะมีการควบรวม 2 กองทุนสุขภาพดังกล่าว จะต้องทำมาตรฐานสิทธิบัตรทองให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะดึงกองทุนอื่นไปรวม ขณะที่ผู้ประกันตนใช้สิทธิประกันสังคมสามารถเลือกรพ.ได้ ไปวันใดก็ได้

“ควรบูรณาการกองทุนแต่ละกองทุนให้ดีขึ้น ซึ่งผมได้มีข้อเสนอต่อรมว.แรงงานว่า อยากจะให้มีการเลือกสถานพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมได้ปีละ 2 ครั้ง (จากเดิมปีละ 1 ครั้ง) และจะต้องหาคณะกรรมการมาตรวจสอบมาตรฐานสถานพยาบาลตามข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอของผู้ประกันตน สร้างความตื่นตัวให้กับรพ.เอกชนที่จะเข้ามาร่วมเป็นคู่สัญญากับสปส. รวมถึงสปส. จะต้องมีการปรับปรุงและเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้ประกันตนเสมือนเป็นประกันชีวิตด้านสุขภาพอย่างเหมาะสมในฐานะ “ผู้จ่ายเงินสมทบ” และควรมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมแสดงความเห็นในการพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนการรับฟังเสียงของผู้ประกันตน” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับฟังข้อเสนออย่างเปิดกว้าง และเห็นด้วยกับการเปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังเสียงของผู้ใช้แรงงานและผู้ประกันตนให้ครบถ้วน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของผู้ใช้แรงงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image