สธ.ขอหารือแพทยสภา ปรับปรุงโครงการ “แพทย์เพิ่มพูนทักษะ” แก้ “หมออินเทิร์น” ลาออก
ความคืบหน้ากรณีกระแสข่าวแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (อินเทิร์น) ปี 1 ลาออกจากโรงพยาบาล (รพ.) บึงกาฬ ซึ่งจากการตรวจสอบจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่ามีจำนวน 10 คน จาก 16 คน ซึ่งเกิดจากปัญหาทำงานอยู่ไกลบ้าน แต่ปัญหาดังกล่าวยังมีข้อห่วงใยถึงแนวทางแก้ปัญหาในภาพรวมของประเทศด้วยนั้น
เมื่อวันที่ 14 เมษายน นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ภูวเดช กล่าวว่า สธ.มีนโยบายการจัดสรรแพทย์ออกไปยังโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) พิจารณาจากขนาดโรงพยาบาล และปริมาณงาน ซึ่งมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ เช่น โรงพยาบาลขนาดเล็กน้อยกว่า 30 เตียง กำหนดสัดส่วนแพทย์ขั้นต่ำ 3 คน หรือหากขนาด 30 เตียง คนไข้นอนประมาณ 15-30 คน กำหนดสัดส่วนแพทย์ 5 คน
และหากโรงพยาบาลขนาดมากกว่า 30-60 เตียง จะให้สัดส่วนแพทย์ 10 คน แต่หากโรงพยาบาลขนาด 60-90 เตียง จะให้สัดส่วนแพทย์ 15 คน โดยเพิ่มระดับละ 5 คน แต่หากโรงพยาบาลไหนมีมากอยู่แล้วก็คงไว้เช่นเดิม แต่จะเน้นว่าโรงพยาบาลไหนขาด หรือต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด อย่างบางโรงพยาบาลเหลือแพทย์เพียง 1-2 คน ทำให้ภาระงานมาก ก็จะเติมให้เพียงพอ
นพ.ภูวเดช กล่าวถึงกรณี จ.บึงกาฬ ว่า ยังไม่ใช่พื้นที่เฉพาะหรือพื้นที่พิเศษ ซึ่งพื้นที่พิเศษ ณ ปัจจุบัน มี จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก เช่น อ.อุ้มผาง อ.ท่าสองยาง และ สามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่พิเศษ มีค่าตอบแทนอัตราพิเศษ การนับระยะเวลาการใช้ทุน ระยะเวลาการศึกษาต่อก็จะแตกต่างจากพื้นที่ปกติ ซึ่งในส่วนของ จ.บึงกาฬ กำลังจะเสนอผ่าน คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ อ.ก.พ.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เพื่อให้เป็นพื้นที่บริหารแบบพิเศษ โดยใช้หลักเกณฑ์เหมือนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากดำเนินการตรงนี้ คาดว่าจะเป็นแรงจูงใจให้แพทย์ได้
“การพิจารณาผ่านขั้นตอน อ.ก.พ.ไม่นาน เนื่องจากอยู่ภายใต้ อ.ก.พ.สป.สธ. ซึ่งจะมีการหารือเรื่องนี้หลังจบเทศกาลสงกรานต์ นอกจากนี้ เตรียมหารือกับแพทยสภา ขอเพิ่มสัดส่วนแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ไปฝึกงานในพื้นที่ จ.บึงกาฬ เช่น หากเดิมได้ 16 คน อาจขอเพิ่มเป็น 24 คน เป็นต้น” นพ.ภูวเดช กล่าว
รองปลัด สธ. กล่าวว่า รพ.บึงกาฬ เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งพื้นที่ห่างไกล ยิ่งเป็นคนกรุงเทพมหานคร หากเดินทางจาก จ.บึงกาฬ ต้องนั่งรถประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อไปถึงจ.อุดรธานี และหากนั่งยาวถึงกรุงเทพฯ ก็ต้องใช้เวลา 8-9 ชั่วโมง นี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง ขณะที่คนพื้นที่ไม่ค่อยเป็นแพทย์ ทำให้คนต่างถิ่นอยู่ได้ไม่นาน การสร้างแรงจูงใจจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่คาดว่าจะช่วยได้ ไม่ใช่ดึงแพทย์อินเทิร์นเท่านั้น แต่ยังดึงแพทย์พี่เลี้ยง แพทย์เฉพาะทางให้อยู่กับ จ.บึงกาฬ นานๆ ลดการขอย้าย ขอลาออก
“แนวทางหลักๆ คือ 1.จัดสรรโควต้าแพทย์เฉพาะทางให้ จ.บึงกาฬ มากขึ้น 2.เรื่องอนุโลมอายุการใช้ทุน เช่น หากสมัครไปฝึกเรียนที่ จ.บึงกาฬ ก็อาจลดระยะเวลาลง ยกตัวอย่าง 3 ปี เหลือ 2 ปี ก็สามารถไปเรียนต่อสาขาขาดแคลนได้ 3.ค่าตอบแทน ต้องพิจารณาว่า เวรนอกเวลาจะเพิ่มเท่าไร แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เนื่องจากเป็นเงินบำรุง เรื่องนี้ต้องวางแผนในภาพรวม” นพ.ภูวเดช กล่าว
ทั้งนี้ นพ.ภูวเดช กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการจัดสรรแพทย์จบใหม่ ว่า หลังเรียนจบแพทย์และสอบได้ใบประกอบวิชาชีพแล้ว จะเข้าสู่การชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี โดยปีแรกจะเป็นแพทย์อินเทิร์น ซึ่งโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะนั้น แพทยสภาดำเนินการร่วมกับ สป.สธ.มาตั้งแต่ปี 2548 และมีการปรับปรุงเมื่อปี 2551 เพื่อให้แพทย์ได้รับการฝึกฝนทักษะตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา จากอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาลสังกัด สป.สธ. 114 แห่ง ที่ได้รับการรับรองให้เป็นแหล่งฝึกแพทย์จากทั่วประเทศ
รองปลัด สธ. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ระบบบริการสุขภาพในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ขณะที่สังคมมีความคาดหวังจากระบบสาธารณสุขที่มากขึ้น ประกอบกับ สธ.ได้มีการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาล เพื่อให้ตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพมากขึ้น จึงควรมีการปรับรูปแบบของการฝึกเพิ่มพูนทักษะแพทย์ใหม่ โดยยังคงมาตรฐานของแพทยสภาและตอบสนองการให้บริการตามนโยบายของ สธ.ไปพร้อมกัน ที่สำคัญคือ สามารถแก้ไขความขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุขได้อย่างตรงจุด และประชาชนยังได้รับบริการที่ดีมีประสิทธิภาพสูงสุด
“โครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่ดำเนินการมากว่า 20 ปี ส่งผลกระทบกับการจัดสรรแพทย์ของ สธ. ทำให้ไม่สามารถจัดสรรแพทย์ไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนแพทย์ได้ และยังคงมีปัญหาแพทย์ไหลออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ในวันที่ 17 เมษายนนี้ สธ.จะทำหนังสือถึงแพทยสภา เพื่อขอหารือให้ทบทวนปรับปรุงวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ของโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และตอบสนองกับการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ของ สธ.โดยอาจให้มีการฝึกเพิ่มพูนทักษะให้เรียบร้อยก่อนเรียนจบและจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ
ซึ่งเมื่อ สธ.จัดสรรแพทย์จบใหม่ไปตามความขาดแคลนของพื้นที่แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการอบรมเรียนรู้เหมือนกับข้าราชการวิชาชีพอื่นๆ ที่บรรจุใหม่” นพ.ภูวเดช กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูล ณ ปัจจุบัน แพทย์จบใหม่ประมาณปีละ 3,000 คน แพทย์ลาออกประมาณ 1,000 คน ยังอยูในระบบ 2,000 คนเศษ ซึ่งประเด็นกระจายตัว ถือเป็นปัญหาสำคัญที่กำลังดำเนินการกระจายให้เหมาะสม และหามาตรการในการสร้างแรงจูงใจเพิ่มขึ้น อย่างเช่น (ร่าง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. … หรือกฎหมายแยก สธ. ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถือเป็นแนวทางสำคัญที่ สธ.จะสามารถบริหารจัดการด้วยวิธีเฉพาะของกระทรวง ซึ่งขณะนี้ ยื่นเรื่องเข้าสู่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนนี้