แพทยสภาพร้อมถกร่วม สธ.หาทางออก ‘หมออินเทิร์น’ ลาออก
จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมทำหนังสือขอหารือแพทยสภา เพื่อเสนอปรับปรุงวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ของโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ(อินเทิร์น) ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และตอบสนองกับการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ของ สธ. เนื่องจากหลักเกณฑ์เดิมใช้มา 20 ปี หลังจากมีกระแสข่าวแพทย์อินเทิร์น ปี 1 จำนวน 10 คน จาก 16 คน ขอลาออกจากโรงพยาบาล (รพ.) บึงกาฬ จ.บึงกาฬ นั้น
ล่าสุด วันนี้ (15 เมษายน 2568) พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่า แพทยสภาพร้อมรับคำหารือของ สธ. เพื่อแก้ปัญหาแพทย์ใช้ทุนปี 1 หรือที่เรียกว่า อินเทิร์น 1 หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ซึ่งกรรมการแพทยสภาในอดีตได้ร่วมกับปลัด สธ. ซึ่งเป็นกรรมการแพทยสภาเช่นกันวางระบบเพิ่มพูนทักษะไว้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับแพทย์จบใหม่เป็นเวลา 1 ปี ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 114 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นโรงพยาบาลในสังกัด สธ.เป็นหลัก ก่อนไปดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ในปีที่ 2 และ ปี 3 ตามที่ สธ.เป็นผู้ดูแลจัดสรรตามความขาดแคลน
พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าวว่า จากการติดตามพบว่า แพทย์ใช้ทุนส่วนใหญ่มักจะลาออกหลังจบเพิ่มพูนทักษะ หรือ อินเทิร์น ปี 1 ไม่ไปใช้ทุนต่อในปี 2 และ ปี 3 ในฐานะข้าราชการ แต่ยอมจ่ายค่าปรับและลาออก ตามที่ นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุไว้จริง ทำให้ รพช.ขาดแคลนแพทย์ เช่นเดียวกับกรณีของ จ.บึงกาฬ
“การทบทวนเพื่อหาจุดปรับปรุง ทั้งจำนวน สัดส่วน ปัญหาภาระงาน การเรียนต่อ และคุณภาพชีวิตแพทย์ น่าจะช่วยให้แพทย์อินเทิร์นอยู่ใช้ทุนได้ยาวนานขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แพทยสภาพร้อมรับคำหารือ” พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากที่ สธ.ส่งหนังสือไปถึงแพทยสภา คาดว่าจะมีการหารือร่วมกันได้เมื่อใดพล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าวว่า ทางแพทยสภาขอรอดูข้อหารือ และรายละเอียด ก่อนนำเสนออนุกรรมการแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่เกี่ยวข้อง และจะกำหนดวันร่วมกันกับทาง สธ.ต่อไป แต่ยืนยันว่า แพทยสภามีความพร้อมที่จะพูดคุยในเรื่องนี้ เพราะมีข้อมูลที่รวบรวมได้จากการติดตามแพทย์อินเทิร์น ปี 1 ในพื้นที่ต่างๆ
“ทั้งนี้ แพทยสภาให้ความสำคัญกับแพทย์จบใหม่ แพทย์ใช้ทุนทุกคน โดยเฉพาะที่อยู่โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยจะต้องติดตาม ทั้งภาระงาน การอยู่เวร ค่าตอบแทน การดูแลของอาจารย์และรุ่นพี่ และคุณภาพชีวิต ในปัจจุบันมีการจัดทีมดูแลติดตาม 35 ทีม ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยมีกรรมการจากโรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง เป็นกรรมการติดตามแพทย์เพิ่มพูนทักษะด้วย” พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าว
ขณะที่ นพ.ภูวเดช กล่าวว่า ในวันที่ 17 เมษายนนี้ สธ.จะทำหนังสือถึงแพทยสภา เพื่อขอหารือ โดยอาจให้มีการฝึกเพิ่มพูนทักษะให้เรียบร้อยก่อนเรียนจบและจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งเมื่อ สธ.จัดสรรแพทย์จบใหม่ไปตามความขาดแคลนของพื้นที่แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการอบรมเรียนรู้เหมือนกับข้าราชการวิชาชีพอื่นๆ ที่บรรจุใหม่ โดยโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่ดำเนินการมา 20 ปี ส่งผลกระทบการจัดสรรแพทย์ของ สธ. ทำให้ไม่สามารถจัดสรรแพทย์ไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนแพทย์ได้ และยังคงมีปัญหาแพทย์ไหลออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง
“การปรับรูปแบบของการฝึกเพิ่มพูนทักษะแพทย์ใหม่ จะยังคงมาตรฐานของแพทยสภา และตอบสนองการให้บริการตามนโยบายของ สธ.ไปพร้อมกัน ที่สำคัญคือ สามารถแก้ไขความขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุขได้อย่างตรงจุด และประชาชนยังได้รับบริการที่ดีมีประสิทธิภาพสูงสุด” นพ.ภูวเดช กล่าว