ทวิดา กำชับ ‘ฆ่าเชื้อ’ โรยปูนขาว ฝนตกไม่เป็นอุปสรรคกู้ซาก ความยากคือ ‘เหล็กที่ถักเป็นแพ’

ทวิดา กำชับ ‘ฆ่าเชื้อ’ โรยปูนขาว ฝนตกไม่เป็นอุปสรรคกู้ซาก ความยากคือ ‘เหล็กที่ถักเป็นแพ’

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นางสาวทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการกู้ซากตึกถล่มว่า สามารถลดยอดของซากตึกถล่มลงมาเหลือ 14 เมตร จากความสูงวานนี้ที่ 16 เมตร

“กระบวนการทำงานเมื่อทยอยหั่นความสูงออกก็จะเจอปูน พอเอาปูนออกก็จะเจอเหล็ก เป็นเหล็กที่ถักกันเป็นแพ ซึ่งเป็นงานไม่ง่าย

หลังจากนี้จะปรับการทำงานให้ทีมใช้ถังออกซิเจนเข้าไปตัดเหล็ก ซึ่งจะต้องหาพื้นที่เรียบและมั่นคงเพื่อวางถังออกซิเจน และเมื่อนำทีมเข้าไปด้านใน เครื่องจักรจะต้องหยุดทำงาน โดยวางแผนไว้ 2 ช่วงแรกตี 4-7 โมงเช้า และช่วงที่ 2 เที่ยงถึงบ่ายสอง เพื่อนำเศษปูนและเหล็กออก” นางสาวทวิดา กล่าว

ADVERTISMENT

นางสาวทวิดา กล่าวว่า ขณะนี้ ทางทีมเร่งการปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มกำลัง แต่การนำร่างผู้สูญหายที่ติดค้างอยู่ภายในอาคารออกมานั้นเป็นเรื่องยาก เจ้าหน้าที่ยังคงนำชิ้นส่วนออกมาเป็นระยะ และกระบวนการในการตรวจสอบทางนิติเวชต้องให้มั่นใจเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด

ADVERTISMENT

“เหตุผลคือผู้ที่รออาจจะไม่ดีกับเขา จึงอยากขอความเข้าใจว่าตัวเลขอาจจะมีการปรับช้า ส่วนฝนที่ตกไม่ได้เป็นอุปสรรครบกวนพื้นที่ด้านใน ทางสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยกั้นน้ำให้มีเส้นทางเดียวเพื่อนำไปฆ่าเชื้อให้สะอาด และโรยปูนขาวก่อนระบายน้ำออก” นางสาวทวิดา กล่าว

ทั้งนี้ ความคืบหน้าสถานการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่อาคาร สตง. เขตจตุจักร ประจำวันที่ 16 เมษายน 68 เวลา 16.00 น. ผู้ประสบภัย 103 ราย เสียชีวิต 44 ราย บาดเจ็บ 9 ราย ติดค้าง 50 ราย

ส่วนสถานการณ์จากการปฏิบัติงาน ณ เวลา 16.00 น. มีดังนี้ ความสูงจากยอดที่เป็นกองปูน 14 เมตร ประมาณการขณะนี้การรื้อถอนจะอยู่ชั้น 19 ปรับแผนเพิ่มทีมในการใช้ถังออกซิเจนตัดเหล็ก ประมาณ 20 ชุด เพิ่มจากเดิมที่มี 10 ชุด เวลาปฏิบัติ 12.00-14.00 น. และ 04.00-07.00 บ. การทำงานเครื่องจักรระมัดระวังสายแก๊ส ป้องกันเหตุซ้ำช้อน

ส่วนการทำงานของ K9 ปรับเวลาค้นหาเป็น 07.00 น. และ 16.30 น. การขนย้ายวัสดุออกนอกพื้นที่ไม่มีอุปสรรค ประสานขอรถน้ำแรงดังดันสูงจากสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อฉีดล้างล้อรถก่อนออกพื้นที่สำนักอนามัย และสำนักสิ่งแวดล้อม เข้าตรวจคุณภาพน้ำ และคุณภาพน้ำที่ผ่านการ DECON DVI การปฏิบัติที่ผ่านมาไม่มีอุปสรรค ปรับการจัดแบ่งเป็น 2 ทีม คือ 1. รื้อถอนกันสาดของอาคารจอดรถออก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจต้องลงไปทำงานที่ชั้นใต้ดิน 2. โซน C และ D มีกองวัสดุเป็นจำนวนมาก ต้องการให้ขนย้ายออกเพื่อป้องกันกำแพงพังทะลาย

การดูแลช่วยเหลือประชาชนและการเยียวยา กทม.ได้ เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว ได้แก่ ศูนย์พักพิง กทม. 3 แห่ง คือ การขอที่พักอาศัยผ่าน Airbnb ศูนย์พักพิงโรงเรียนวัดเสมียนนารี และศูนย์พักคอยญาติผู้ประสบภัย เขตจตุจักร โดยศูนย์พักพิงของผู้ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเข้าพักในอาคารเดิมได้ และขอที่พักอาศัยผ่าน Airbnb มียอดรวมที่ดำเนินการลงทะเบียนกับ Airbnb แล้ว จำนวน 613 ครัวเรือน ศูนย์พักพิง โรงเรียนวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร ยังสามารถรองรับได้ 150 คน ส่วนศูนย์พักคอยญาติ เขตจตุจักร รองรับได้ 82 คน เข้าพัก 75 คน ว่าง 7 ที่ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 เมษายน 2568 เวลา 13.51 น.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image