สปส.แจงเงินสมทบ 750 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนได้สิทธิอะไรบ้าง

สปส.แจงเงินสมทบ 750 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนได้สิทธิอะไรบ้าง

วันนี้ (13 พฤษภาคม 2568) นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยถึงสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองจากการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ว่า นอกจากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบร้อยละ 5 แล้ว ยังมี นายจ้างที่สมทบในอัตราร้อยละ 5 และยังมีส่วนของรัฐบาลที่ร่วมสมทบในอัตราร้อยละ 2.75 รวมทั้ง 3 ฝ่าย เป็นร้อยละ 12.75 สำหรับใช้ในการจ่ายสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณี ให้แก่ผู้ประกันตน ได้แก่ กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดสำหรับคำนวณเงินสมทบไว้ที่อัตราเดือนละ 15,000 บาท

“ดังนั้น ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป จะชำระเงินสมทบร้อยละ 5 จากเพดานค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท หรือเดือนละ 750 บาท นายจ้างจะสมทบด้วย 750 บาท และรัฐบาลร่วมสมทบอีก 412.50 บาท รวมเงินสมทบ 3 ฝ่าย 1,912.50 บาท ซึ่ง สปส.ได้นำไปจัดสรรสำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์แต่ละกรณี ดังนี้ จำนวน 675 บาท หรือ ร้อยละ 4.5 นำไปใช้ในกรณีเจ็บป่วย ซึ่งครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล ทันตกรรม และเงินทดแทนการขาดรายได้ที่ต้องหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ ค่าคลอดบุตร รวมถึงค่าฝากครรภ์และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เงินจัดการศพและเงินสงเคราะห์กรณีตาย จำนวน 1,050 บาท หรือ ร้อยละ 7 นำไปใช้ในกรณีชราภาพ และสงเคราะห์บุตร โดยเป็นเงินออมกรณีบำเหน็จบำนาญชราภาพให้ผู้ประกันตน 900 บาท และกรณีสงเคราะห์บุตร 150 บาท จำนวน 187.50 บาท หรือ ร้อยละ 1.25 นำไปใช้สำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน” นางมารศรี กล่าว

เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ไม่ใช่ผู้ประกันตนทุกคนต้องชำระเงินสมทบ 750 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนมีค่าจ้างไม่ถึง 15,000 บาท จะชำระในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างจริง เช่น ค่าจ้าง 10,000 บาท จะจ่ายเงินสมทบในอัตรา 500 บาทต่อเดือน เป็นต้น

“ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่เคยใช้สิทธิการรักษาพยาบาล รวมถึงไม่มีครอบครัว อาจรู้สึกว่าไม่คุ้มกับเงินสมทบที่นำส่งนั้น ขอชี้แจงข้อมูลให้ทราบว่า ถึงแม้ผู้ประกันตนไม่เจ็บป่วย ไม่ได้ใช้สิทธิในการรักษาพยาบาล แต่กองทุนประกันสังคมได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลในลักษณะเหมาจ่ายให้กับโรงพยาบาลคู่สัญญาเป็นประจำทุกเดือน เพื่อรองรับความเสี่ยงและให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในยามจำเป็นหรือในเวลาฉุกเฉินได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงค่าใช้จ่าย ในกรณีที่ผู้ประกันตนที่ไม่เคยใช้สิทธิใดๆ เลย ก็ขอให้อุ่นใจได้ว่ายังมีเงินออมกรณีชราภาพคอยดูแลในยามเกษียณ นอกจากนี้ กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินค่าทำศพ เงินสงเคราะห์กรณีตาย และเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตน เป็นหลักประกันว่า หากเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้น ก็ยังมีสิทธิประโยชน์จาก สปส.ให้การดูแลแก่ครอบครัวของผู้ประกันตนต่อไป หากผู้ประกันตน หรือแรงงานคนใดมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง” นางมารศรี กล่าว

ADVERTISMENT