‘สมศักดิ์’ เผยหน่วยบริการปฐมภูมิทั่วปท.ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 84% ครอบคลุมกว่า 46 ล้านคน
วันนี้ (13 พฤษภาคม 2568) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งที่ 1/2568 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัด สธ. คณะผู้บริหาร และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความครอบคลุมด้านบริการสุขภาพที่ทั่วถึงและเป็นธรรมให้กับประชาชน เน้นการดูแลเชิงรุก และเชื่อมโยงการดูแลแบบองค์รวมทั้งด้านส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิขึ้นทะเบียนภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ใน 12 เขตสุขภาพรวม 4,547 แห่ง/เครือข่าย ครอบคลุมประชากรประมาณ 46,837,295 คน คิดเป็น ร้อยละ 84.22 จากเป้าหมาย 5,399 แห่ง/เครือข่าย ภายในเดือนกันยายน 2568 ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีหน่วยบริการปฐมภูมิที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 349 ทีม ประกอบด้วย ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 ทีม คลินิกชุมชนอบอุ่นและปฐมภูมิโรงพยาบาล อีก 280 ทีม
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมวันนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้ให้ความเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ 1.การดำเนินการตามมาตรา 15 และมาตรา 16 พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิฯ เพื่อให้ประชาชนไทยมีสิทธิได้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นธรรม มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน โดยให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานทบทวนรายการและกิจกรรมสำคัญที่บุคคลสามารถได้รับ ตามประกาศคณะกรรมการสุขภาพปฐมภูมิ เรื่อง บริการสุขภาพปฐมภูมิที่บุคคลมีสิทธิได้รับ พ.ศ.2563 และให้มีการทบทวนรายการฯ ทุกปี และ 2.โครงการพัฒนาศักยภาพ ครู ก. หลักสูตรโค้ชวิถีชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Lifestyle Coaches) โดยสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขของเขตสุขภาพให้เป็นโค้ชวิถีชีวิตขั้นพื้นฐานและเป็นวิทยากรฝึกอบรม (ครู ก.) ในระดับเขต เป็นพี่เลี้ยงและถ่ายทอดความรู้สู่ ครู ข. (ระดับจังหวัด) และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้มีความรู้ความเข้าใจและทักษะในการเป็นโค้ชวิถีชีวิต เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพขั้นพื้นฐาน ช่วยสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้รับบริการสุขภาพ ครอบครัว และชุมชน ซึ่งการสร้างเครือข่าย “ครู ก.” จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมพลังให้กับระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิของประเทศทั้งในมิติของบุคลากร กระบวนการบริการ และการเชื่อมโยงชุมชน
“โดยหลักสูตรประกอบด้วย 4 หมวด ได้แก่ 1.Basic Preventive Medicine for Basic Lifestyle Coaches เวชศาสตร์ป้องกันขั้นพื้นฐานสำหรับโค้ช 2.Lifestyle Medicine Sciences for Basic Lifestyle Coaches อาทิ เวชศาสตร์วิถีชีวิต : หลักการและการประยุกต์ใช้ การบริการเวชศาสตร์วิถีชีวิต โภชนศาสตร์สมัยใหม่ เวชศาสตร์การออกกำลังกาย การจัดการความเครียดและการส่งเสริมสุขภาพจิต เวชศาสตร์การนอนหลับ 3. Behavioral Change Theories and Techniques for Lifestyle Coaches จิตวิทยาสติสมัยใหม่: เครื่องมือการเป็นโค้ช ทักษะการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยหลักการเวชศาสตร์วิถีชีวิต และ 4.Applications for Basic Lifestyle Coaches อาทิ การฝึกปฏิบัติการจัดการอาหารและโภชนาการสำหรับการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อ การฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายและการมีกิจกรรมทางกายเพื่อการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อ เป็นต้น โดยจะคัดเลือกบุคลากรสาธารณสุขจาก 12 เขตสุขภาพ เขตละ 20 คน รวม 240 คน เข้ารับการอบรม จำนวน 4 รุ่น รุ่นละ 60 คน ในรูปแบบออนไซต์ เป็นระยะเวลา 5 วัน” นายสมศักดิ์ กล่าว