ยันพฤติกรรม เหี้ย ไม่ดุร้าย นิสัยกินซาก เผยสถานะเป็นสัตว์คุ้มครองแต่เลี้ยงได้

ผอ.สัตว์ป่ายัน เหี้ยไม่ดุ ไม่เคยจู่โจมใครก่อน เป็นสัตว์กำจัดซาก เผยกรมอุทยานฯดูแลเหี้ย 300 ตัวงูเหลือม1,500 ตัวที่ สถานีเพาะเลี้ยงเขาสน ราชบุรี

กรณี มีเหตุการณ์ ตัวเหี้ย ในพื้นที่ ซ.กิ่งแก้ว 28 สมุทรปราการ ได้ลากศพเด็กไปกิน โดยต่อมามีชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลเพิ่มว่า หัวเหี้ยในพื้นที่ดังกล่าวดุเคยกัดเด็กมาแล้ว 2 คนนั้น

ด่วน! พบตัวเงินตัวทอง คาบ ‘ศพเด็ก’ ไปกินใต้กำแพง กู้ภัยรุดตรวจสอบ

ชาวบ้านเล่านาทีเจอ ‘ตัวเหี้ย’ แทะศพทารก เผยแถวนี้มีเยอะ-ดุ เคยกัดเด็กแล้ว 2 คน

วันที่ 14 พฤษภาคม มติชนออนไลน์ ได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง นายเฉลิม พุ่มไม้ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถึงเรื่องพฤติกรรม ของตัวเหี้ย นายเฉลิม ยืนยันว่า โดย นิสัยและพฤติกรรมแล้ว เหี้ยไม่ใช่สัตว์ที่ดุร้าย และจู่โจมทำร้ายใครก่อน มีแต่จะหลบหนี หากเห็นว่าตัวเองมีภัย

ADVERTISMENT

“พฤติกรรมตามธรรมชาติของเขาคือ เป็นสัตว์ที่คอยกำจัดซาก มีซากเน่า เนื้อเน่าเหม็นที่ไหน มักจะเจอตัวเหี้ยที่จะตามกลิ่นไปกินที่นั่น”นายเฉลิม กล่าว

นายเฉลิม กล่าวว่า เหี้ย ปัจจุบันนี้มีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ ทั้งนี้ตัวเหี้ยที่ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เห็นแล้วไม่สบายใจ และแจ้งกู้ภัย หรือให้เจ้าหน้าที่อุทยานเข้าไปจับ เมื่อเจ้าหน้าที่ไปจับแล้ว จะถูกนำมาพักที่ กรมอุทยานฯจากนั้น จะถูกนำไปเลี้ยงไว้ ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี ถือเป็นสัตว์ป่าแก้ปัญหา โดยที่นั่น มีสถานที่เหมาะสมให้สัตว์ป่าแก้ปัญหา ทั้งตัวเหี้ย และงูเหลือมอาศัยอยู่

“เวลานี้เราดูแลเหี้ยอยู่ประมาณ 300 กว่าตัว และดูแลงูเหลือมอยู่ประมาณ 1,500 ตัว ซึ่งเราจะดูแลสัตว์พวกนี้ไปจนหมดอายุขัย โดยตัวเหี้ย คนอาจจะพบเห็นได้บ่อย แต่ไม่ได้แจ้งให้ไปจับ หากไม่เข้าบ้าน จึงมีปริมาณไม่มากนัก ขณะที่งูเหลือมนั้น ถูกแจ้งให้จับสัปดาห์ละประมาณ 300 ตัว ถือว่าค่อนข้างเยอะ”นายเฉลิม กล่าว