สธ.พัฒนาแพลตฟอร์ม แจ้งเตือนคู่ยามีปฏิกิริยาระหว่างกัน นำร่อง 25 รพ.

สธ.พัฒนาแพลตฟอร์ม แจ้งเตือนคู่ยามีปฏิกิริยาระหว่างกัน นำร่อง 25 รพ.

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 4/2568 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.และผู้บริหารระดับสูงร่วมประชุม โดยก่อนการประชุมได้มีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับ นพ.สิทธิมาศ วงค์สุรเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ดอนตาล นพ.นนชยา ใจตรง แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป รพ.ดอนตาล และทีมที่สามารถตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยแอนแทรกซ์ ใน จ.มุกดาหาร ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ควบคุมโรคได้อย่างดี ลดความสูญเสียด้านสุขภาพของประชาชน

นายเดชอิศม์ กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีความพึงพอใจนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่สูงสุดถึง 71.6% ซึ่งต้องขอขอบคุณบุคลากรสาธารณสุขทุกคนที่ร่วมกันทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน พร้อมกันนี้ ขอให้ช่วยกันเฝ้าระวังสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ รวมถึงโรคที่มีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน และเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจัดบริการประชาชน

นายเดชอิศม์ กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้ติดตามในประเด็นสำคัญ อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์ม AI Drug Interaction Center ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลระบบการแจ้งเตือนคู่ยาที่มีปฏิกิริยาระหว่างกัน โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากสถานพยาบาลทุกระดับเข้าสู่ระบบ Personal Health Record เพื่อแจ้งเตือนการใช้ยาบางชนิดในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับหรือโรคไตวาย เป็นต้น ช่วยให้ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาหลายชนิดพร้อมกันมีความปลอดภัย โดยระบบสามารถแนะนำคู่ยาที่เหมาะสมและส่งข้อมูลย้อนกลับมายังแพทย์ มีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์และการแพ้ยา รวมถึงสามารถให้คำแนะนำการใช้ยาโดยตรวจสอบลักษณะของผู้ป่วย เช่น อายุ ภาวการณ์ตั้งครรภ์ และค่าผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของไตและตับ ซึ่งได้นำร่องในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในทุกเขตสุขภาพแล้ว 25 แห่ง และจะมีการขยายการใช้งานระบบฯ ไปทั่วประเทศต่อไป

ADVERTISMENT

พัฒนาแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ ได้ติดตามการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ(พร.บ.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ…. ซึ่งสิ้นสุดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีผู้เข้าแสดงความคิดเห็น 29,587 คน และเห็นด้วยถึง ร้อยละ 91.48 ส่วนการดำเนินงาน อสม. ชวนคนไทยนับคาร์บ มีประชาชนได้รับการสอนนับคาร์บ 28,169,277 คน หรือร้อยละ 52.88 และจะขับเคลื่อนต่อให้ถึงเป้าหมาย 50 ล้านคน ภายในปีงบประมาณ 2568

สำหรับความก้าวหน้าระบบสุขภาพดิจิทัล ประเด็น MOPH REFER โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 902 แห่ง เชื่อมโยงระบบแล้ว 100% รพ.สต. 824 แห่ง อยู่ระหว่างการเชื่อมต่อระบบ ออกใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 451,716 ใบ ประเด็น IMAGING HUB มีภาพถ่ายรังสี 908,996 เคส ประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งต่อภาพถ่ายรังสีได้ 330,000 บาท โดยภายหลังมีความร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ออกใบส่งตัวอิเลกทรอนิกส์จาก โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 4,895 ใบ กลุ่มโรคที่มีข้อมูลในระบบส่งตัวอิเลกทอนิกส์สูงสุด ได้แก่ มะเร็งต่อมไทรอยด์ ความดันโลหิตสูง SLE มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม เป็นต้น

พัฒนาแพลตฟอร์ม

พัฒนาแพลตฟอร์ม