สสปท.ห่วงความปลอดภัยแรงงาน เผย เฉพาะ กทม. มีกว่า 60 จุดที่ขุดอุโมงค์ แนะทำกำแพงกันดิน
จากเหตุการณ์ ดินสไลด์ทับคนงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บริเวณปากซอยหลานหลวง 8 แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 19 พฤษภาคม
นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือ สสปท กล่าวว่า รู้สึกเป็นกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูฝน ซึ่งมีการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหลายสาย เป็นระยะทางยาว ทั้งขั้นตอนของการเริ่มขุดเจาะสถานี และทำผนัง เจาะอุโมงค์ใต้ดิน เป็นการทำงานที่ต้องระมัดระวังความปลอดภัยอย่างมาก ข้อมูลจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทราบว่า ขณะนี้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่กทม. ซึ่งมีจำนวนสถานีที่ต้องขุดเจาะเพื่อทำอุโมงค์ใต้ดินมากกว่า 60 สถานี ทั้งส่วนปกติและส่วนต่อขยาย ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน การทำงานอาจต้องเสี่ยงอันตราย ทางที่ดีนอกจากต้องสวมอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยแล้ว แนะนำให้หากทำกำแพงกันดินเพื่อป้องกันอีกทางหนึ่ง
“ถ้าไม่มีกำแพงกันดิน หากมีฝนตกและสภาพดินเหนียว อาจทำให้มีการลื่นและมีดินสไลด์ เหมือนที่เกิดขึ้นที่บริเวณหลานหลวงในครั้งนี้ได้” นายนันทชัย กล่าวแสดงความกังวลและว่า OSHA หรือ สำนักบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ภายใต้กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานขุดดิน สาเหตุหลักที่ทำให้มีการเสียชีวิต มาจากดินถล่มหรือการพังทลายของดินเป็นอันดับต้นๆ
นายนันทชัย กล่าวว่า ในพื้นที่ไซต์งานก่อสร้างทุกแห่ง ไม่เฉพาะแต่พื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าเท่านั้น ขอกำชับให้ผู้ประกอบการเข้มงวดในการให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัย และจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อคนทำงาน ซึ่งหากไซต์งานก่อสร้างที่มีการขุดเจาะอุโมงค์ต้องการคำแนะนำ สสปท. พร้อมลงพื้นที่ช่วยดูแลและให้คำแนะนำเรื่องความปลอดภัย รวมทั้งจะได้หารือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อจัดทำมาตรฐานเพื่อเป็นแนวทางป้องกัน รวมถึงมีการเปิดคอร์สฝึกอบรมให้กับผู้ปฏิบัติงานต่อไป