ส่งจิตแพทย์ 2 ทีม ดูแลจิตใจ ชาวสกลนคร กรมสุขภาพจิตพบ ผู้ป่วยจิตเวชติดน้ำท่วม ผิดนัดหมอ 5 %

วันที่ 31 กรกฎาคม นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดูแลด้านสุขภาพจิตประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุเซินกาที่ จ.สกลนคร ว่า กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการปรับแผนบริการประชาชนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)สกลนคร โดยได้จัดส่งทีมจิตแพทย์และพยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร จากศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 พร้อมเวชภัณฑ์ยาทั้งยารักษาการเจ็บป่วยทั่วไปและยาด้านจิตเวชไปที่ อ.กุสุมาลย์ เนื่องจากระดับน้ำท่วมยังสูงประมาณ 1-2 เมตร โดยประจำการที่ศูนย์พักพิงโรงเรียนแกล้งคำประชาสามัคคี อ.กุสุมาลย์ ซึ่งมีประชาชนพักอยู่ประมาณ 200 คน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยที่เพิ่งได้รับผลกระทบ และดำเนินการค้นหากลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ และทีมจิตแพทย์ที่ 2 จากโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ ไปประจำการที่อ.นาแก จ.นครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะรับน้ำจาก จ.สกลนคร

“ เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่จ.สกลนคร ครั้งนี้กระจายเป็นวงกว้าง ทั้งจังหวัดมีผู้ป่วยด้านจิตเวชขึ้นทะเบียนรักษาประมาณ 14,000 คน ได้สั่งการให้รพ.จิตเวชนครพนมฯซึ่งเป็นรพ.เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สำรองยาสำหรับสนับสนุนให้โรงพยาบาลสกลนครและโรงพยาบาลชุมชนอีก 17 แห่งอย่างเต็มที่ ขณะนี้ได้สำรองไว้สามารถใช้การได้ 1 เดือน ขณะเดียวกันกรมสุขภาพจิตพร้อมจัดทีมสนับสนุนในการดูแลสุขภาพจิตประชาชนในจ.สกลนครอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อช่วยผ่อนเบาภาระให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของ จ.สกลนคร ซึ่งขณะนี้มีขวัญกำลังใจดีแม้ว่าจะเป็นผู้ประสบภัยด้วยก็ตาม ” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า หลังจากมีน้ำท่วมที่ จ.สกลนครเป็นเวลา 3-4 วัน ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชบางส่วนที่ไปใช้บริการที่รพ.จิตเวชนครพนมฯ ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยจิตเภทและโรคซึมเศร้า ขาดนัดประมาณร้อยละ 5 เนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกจากพื้นที่ได้ โดยได้ประสานงานพื้นที่ในการจัดส่งยาไปให้ผู้ป่วยถึงบ้าน ป้องกันปัญหาขาดยา หากผู้ป่วยรายใดที่ยาใกล้หมด หรือต้องเดินทางไปตามนัดในช่วงสัปดาห์นี้ ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้หรือ อสม.หรือไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลสนามหรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 หรือ 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดวิฤตน้ำท่วม ผู้ประสบภัยโดยทั่วไปจะเกิดความเครียด ซึ่งหากทุกคนมีความร่วมมือร่วมใจกัน ก็จะช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจได้อย่างดี ทั้งนี้ผู้ประสบภัยเองก็สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองจากเป็นผู้คอยรับการช่วยเหลือ เป็นจิตอาสาให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านได้ โดยใช้ความสามารถหรือความถนัดของตนเอง ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่นทำกับข้าวแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้มีความสุขใจ ความภาคภูมิใจ ความเข้มแข็ง คลี่คลายความเครียดลงได้อย่างดี และยังเป็นการสร้างความรักและความสามัคคี ให้เป็นพลังในการกอบกู้วิกฤติในชุมชนและครอบครัว ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image