ส่งลิงอ้วนคืนบ้าน แข็งแรงคล่องแคล่วพุงยังย้อยแต่ไม่อืด เปิดเมนูลดนน. ผักกาดขาว แก้วมังกร หนอนนก ไข่ต้ม

กรณีที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ช่วยเหลือลิงแสมตัวหนึ่ง มาจากบริเวณจุดชมวิวถนนเลียบวงแหวนใต้ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากลิงตัวดังกล่าว มีสภาพอ้วนมาก เคลื่อนไหวตัวลำบาก ได้แต่นั่งนิ่งๆรอรับอาหารจากผู้คนที่ผ่านไปมา โดยครั้งแรกที่รับลิงแสมตัวดังกล่าวมาดูแลนั้น พบว่า มีน้ำหนักตัวถึง 27 กิโลกรัม มีหน้าท้องขนาดใหญ่ประมาณ 35-40 เซนติเมตร ซึ่งโดยปกติแล้ว ลิงแสมโดยทั่วไปจะมีน้ำหนักประมาณ 10-15 กิโลกรัมเท่านั้น

วันที่ 10 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ ได้ย้ายลิงอ้วน ไปยังบริเวณจุดชมวิวอนุสาวรีย์คุณกะลา ถ.เลียบวงแหวนใต้ เขตบางขุนเทียน ภายหลังจากนำลิงอ้วนมาลดน้ำหนักเป็นเวลา 3 เดือน ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งสามารถลดน้ำหนักได้เกือบ 3 กิโลกรัม

 

Advertisement

เวลา 10.00 น.นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จากสำนักอนุรักษ์ป่า ได้นำลิงอ้วนบรรจุกรง ใส่รถช่วยเหลือสัตว์ป่า เพื่อนำไปปล่อยยัง บริเวณจุดชมวิวอนุสาวรีย์คุณกะลา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของลิงอ้วน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง โดยที่บริเวณจุดชมวิวอนุสาวรีย์คุณกะลานั้น ทางเขตบางขุนเทียน และเจ้าหน้าที่อุทยานได้เตรียมกรงขนาดใหญ่เอาไว้สำหรับให้ลิงอ้วนอยู่ชั่วคราว จนกว่าจะปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆลิงในพื้นที่ได้ เนื่องจากลิงอ้วนจากไปค่อนข้างนาน หลังจากชาวบ้านในพื้นที่รู้ว่าลิงอ้วนจะกลับมาอยู่บ้านต่างพากันมารับจำนวนมาก โดยกลุ่มคนรักลิงในพื้นที่ ได้พากันนำถั่ว ผลไม้ มะพร้าว และทุเรียนมารับขวัญลิงอ้วนจำนวนมาก และส่วนหนึ่งชาวบ้างอ้างว่านำมาแก้บนต่ออนุสาวรีย์คุณกะลา ซึ่งชาวบ้านมีการบนเอาไว้ว่า หากลิงอ้วนได้กลับบ้านเหมือนเดิมจะเอา ถั่ว มะพร้าว ทุเรียน และผลไม้อื่นๆมาถวาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดกรงให้ลิงอ้วนเข้าไปอยู่ในกรงใหญ่ที่เตรียมไว้สำหรับการปรับตัว ลิงอ้วนก็ตรงเข้าไปกินผลไม้ที่เจ้าหน้าที่วางเอาไว้ให้ทันที โดยสภาพลิงอ้วนนั้น แม้จะมีพุงห้อยย้อยเหมือนเดิม แต่มีความคล่องแคล่วมากกว่าเดิมมาก ขณะกินอาหาร ก็มีลิงตัวอื่นๆที่อยู่ด้านนอกเข้ามาทักทายส่งเสียงขู่ร้องเป็นระยะ

Advertisement

นายปิ่นสักก์ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ลิงอ้วนสุขภาพ แข็งแรงดี ค่าเลือดปกติ ไม่พบโรคติดต่อที่สำคัญในลิง อ้วนสามารถกลับบ้านได้ น้ำหนักก็ลดลงด้วย จากเดิม 27 กิโลกรัม ลดหลงเหลือ 24.72 กิโลกรัม รวมแล้วลดน้ำหนักได้ทั้งหมด 2.28 กิโลกรัม หน้าท้องลงอ้วน เล็กลง จะได้ลดการเสียดสีกับพื้นดินเพื่อป้องกันการเกิดแผลบริเวณหน้าท้อง ถ้าหน้าท้องลิงอ้วนมีขนาดใหญ่กว่านี้ตอนนี้ ลิงอ้วนปรับพฤติกรรมการกินได้แล้ว ซึ่งคณะสัตวแพทย์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปรับสูตรอาหารให้เหมาะสม เพื่อควบคุมน้ำหนัก ให้กินอาหารธรรมชาติ ไม่เกิน 400 กรัมต่อมื้อ โดยให้กินวันละ 2 มื้อ เมื่อลิงอ้วนกลับบ้านแล้วยังต้องให้กินอาหารจากธรรมชาติ ที่ไม่หวานมากและไม่มีไขมันสูง งดขนมถุง รสหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดี

“ถือว่าเราประสบความสำเร็จพอสมควรสำหรับการดูแล รักษาสัตว์ป่า ที่อยู่ในสภาพทุโภชนา จนอ้วนใหญ่ ซึ่ง เกือบๆ 3 กิโลกรัม ที่ลดลงมา ถือเป็น 5% ของน้ำหนักตัวแต่แรก ถือว่าลดลงมากทีเดียวสำหรับสัตว์ขนาดเล็ก ที่ต้องเอาลิงอ้วนมาปล่อยในบ้านเกิดเขาเวลานี้ เพราะระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา เรามั่นใจว่าเขาปรับสภาพการกินได้แล้ว ซึ่งหลังจากนี้อีกราว 1-2 สัปดาห์จะมีสัตวแพทย์ของกรมอุทยานมาดูแลลิงอ้วนทุกวันและยังคงให้อาหารวันละ 2 มื้อ เหมือนที่เคยให้ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ตอนที่อยู่ที่กรมอุทยาน”นายปิ่นสักก์ กล่าว

รองอธิบดีกรมอุทยานฯกล่าวว่า ต้องขอความร่วมมือทั้งจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่แวะมาในพื้นที่นี้ว่าให้ดูความเหมาะสมในการให้อาหารลิงทุกตัวไม่เฉพาะลิงอ้วน เพราะหากให้ลิงกินทุกอย่าง โดยคิดว่า ลิงจะชอบเหมือนที่คนชอบกิน อีกไม่นานก็คงจะมีลิงอ้วนตัวใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ลิงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ความจริงแล้วมนุษย์ไม่ควรให้อาหาร เพราะลิงหาของในป่ากินเองได้ แต่ตนเข้าใจในความเมตตาของทุกคนที่อยากให้ลิงกิน หลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่นำป้ายมาติดเตือนให้ ให้อาหารที่เหมาะสมกับลิง คือ ผักผลไม้ และให้กินเป็นเวลา เพื่อไม่ให้มีปัญหาลิงอ้วนอีก

สัตวแพทย์หญิง(สพญ.)ณฐนน ปานเพ็ชร์ นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ ผู้ดูแลลิงอ้วน กล่าวว่า อาหารหลักที่ให้ลิงกินระหว่างการควบคุมน้ำหนัก คือ ผักกาดขาว ผักบุ้ง แก้วมังกร มะละกอ ไข่ต้ม หนอนนก หมูไม่ติดมันต้มสุก และกล้วย มื้อละ 400 กรัม 2 มื้อ เช้าเย็น รวมทั้งการทำสถานที่ให้เหมาะสมกับการเคลื่อนไหว เพื่อการออกกำลังกาย เช่นวางอาหารไว้คนละจุด เป็นต้น

“ระหว่างนี้ เราจะพยายามทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่นี่เรื่องการให้อาหารสัตว์ ว่าอาหารชนิดใดเหมาะสมหรือไม่อย่างไร หลายชนิดที่เคยให้ เป็นของคนกิน ไม่ใช่อาหารสัตว์ เช่น พวกขนมขบเคี้ยว เพราะหากกินเข้าไปในปริมาณมาก จะส่งผลเสียต่อสุขภาพสัตว์เอง”นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยาน กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image