อธิบดียัน พ.ร.บ.น้ำ เอื้อเกษตรกรรายย่อย ชี้ ผู้ใช้น้ำกลุ่มใหญ่ควรจ่ายราคาที่เหมาะสม คืนคุณแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 29 กันยายน นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาเกี่ยวกับพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ในเรื่องการจัดสรรน้ำ โดยกำหนดเรียกเก็บค่าน้ำ ว่า ตามข้อมูลของยูเนสโก กำหนดไว้ว่าหากมีปริมาณน้ำต่อคนต่อปีต่ำกว่า 5,000 ลูกบาศ์กเมตร (ลบ.ม.) ซึ่งประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 3,200 ลบ.ม.ต่อคนต่อปี ดังนั้นสถานการณ์น้ำในปัจจุบันของประเทศไทยจึงอยู่ในระดับขาดแคลนน้ำรุนแรง

นายวรศาสน์ อธิบายว่า ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จึงเป็นกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทานที่ปัจจุบันมีการแย่งชิงน้ำ ซึ่งหากมีผู้ใช้น้ำรายใหญ่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำสูบน้ำไปใช้ในจำนวนมากก็จะทำให้เกษตรกรรายย่อยที่อยู่ปลายน้ำไม่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ เช่น ไร่ส้มที่อยู่ต้นน้ำภาคเหนือในลุ่มน้ำปิง และโรงงานอุตสาหกรรมในจ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีข้อมูลการใช้น้ำสาธารณะวันละ 50,000 ลบ.ม. ซึ่งจะไม่เป็นธรรมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำรายอื่น การจัดสรรน้ำที่จะอยู่ในกฎกระทรวงจึงเป็นกลไกในการสร้างสิทธิในการเข้าถึงน้ำสาธารณะที่อยู่ในพื้นที่นอกชลประทานอย่างเป็นธรรม และคำนึงถึงเกษตรกรรายย่อยเป็นสำคัญและจัดสรรให้เป็นกลุ่มแรก

อธิบดีกรมฯน้ำ กล่าวว่า ตามกฎหมายที่ได้กำหนดประเภทการใช้น้ำไว้ 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ใช้นํ้าเพื่อการดำรงชีพ ไม่ต้องเสียค่าใช้นํ้า ประเภทที่ 2 ใช้นํ้าเพื่อการพาญิชย์ ด้านการเกษตร เช่น ข้าว 50-1,000 ไร่ อ้อย 50 – 1,000 ไร่ ไม้ผลยืนต้น 25 – 200 ไร่ พืชผัก ไม้ประดับ 20 – 200 ไร่ เลี้ยงสัตว์ เช่น โค 20 – 200 ตัว ไก่ 5,000 – 20,000 ตัว เป็ด 1,000 – 50,000 ตัว สุกร 30 – 1,000 ตัว เลี้ยงสัตว์น้ำ 10 -15 ไร่ เก็บค่าน้ำไม่เกิน 50 สตางค์ต่อลบ.ม. ด้านการท่องเที่ยว โรงแรม สถานที่พักผ่อน ร้านอาหาร เก็บค่าน้ำ 1-3 บาทต่อลบ.ม. และธุรกิจสนามกอล์ฟ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาสัมปทาน เก็บค่าน้ำไม่เกิน 3 บาทต่อลบ.ม. และประเภทที่ 3 สำหรับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ และกิจการอื่นๆ ที่ใช้น้ำในปริมาณมากตามมติของกนช. เก็บค่าน้ำไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อลบ.ม.

“แต่อย่างไรก็ตามมาตรา 47 ของพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ได้มีข้อยกเว้นว่า หากมีผลผลิตไม่ดีหรือขาดทุน สามารถรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำ สะท้อนปัญหาไปยังคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อยกเว้นการเก็บน้ำในส่วนนี้ได้ และการจัดสรรน้ำดังกล่าวนี้จะจัดสรรน้ำให้ผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ก่อน จากนั้นตามด้วยประเภทที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้อยากเงิน แต่ต้องนำกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อให้การจัดสรรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมอย่างแท้จริง” อธิบดีกรมฯน้ำ กล่าวย้ำ

Advertisement

นายวรศาสน์ กล่าวว่า ทั้งนี้กลุ่มผู้ใช้น้ำทั้ง 3 ประเภท ต้องขึ้นทะเบียนการใช้น้ำตามจริง โดยจะการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการลุ่มน้ำแห่งชาติ 25 ลุ่มน้ำและสำนักงานทรัยพากรน้ำแห่งชาติ ที่จะจัดตั้งขึ้นแทนกรมทรัพยากรน้ำ โดยองค์กรผู้ใช้น้ำจะเป็นคนในพื้นที่มาช่วยกำกับดูแลการจัดสรรน้ำอย่างเป็นธรรม โดยปกติกลุ่มผู้ใช้น้ำจะมีวิธีการประเมินการใช้น้ำว่าตนใช้ปริมาณจำนวนเท่าไร ก็มาขึ้นทะเบียนระบุการใช้น้ำตามจริง ส่วนภาครัฐก็จะมีวิธีประเมินปริมาณการใช้น้ำที่เป็นเกณฑ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่แล้ว เช่น การทำนาใช้น้ำประมาณ 1,500 ลบ.ม.ต่อ 1 ไร่ เป็นต้น

นายวรศาสน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนผู้ที่ใช้น้ำกลุ่มใหญ่ เช่น สนามกอลฟ์ โรงแรม อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่จำเป็นต้องใช้น้ำสาธารณะนอกพื้นที่ชลประทาน ก็ควรตอบแทนให้กับสังคม เสียค่าทรัพยากรน้ำในราคาที่เหมาะสมคืนแผ่นดิน ซึ่งอาจมีการจ่ายเป็นรายปี แต่ทั้งนี้ก็มีกฎหมายข้อยกเว้น กรณีผลผลิตไม่ดีหรือขาดทุนรัฐก็จะยกเว้นการเก็บค่าน้ำได้ โดยจะมีการวิเคราะห์ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น รัฐไม่ได้เอาเปรียบกลุ่มผู้ใช้น้ำรายใหญ่เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นกฎหมายที่ไม่ต่างจากเก็บค่าน้ำของระบบชลประทาน ที่เก็บไร่ละ 50 สตางค์ต่อลบ.ม. หรือของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีการเก็บการใช้น้ำบาดาลเช่นกัน ทั้งนี้หากมีการบังคับใช้กฎหมายในการเรียกเก็บค่าน้ำสาธารณะในพื้นที่นอกชลประทานดังกล่าวได้ คาดว่าจะสามารถเรียกเก็บเข้างบแผ่นดินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทต่อปี

“หากพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ มีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งการจัดสรรน้ำที่ระบุถึงอัตราการเก็บค่าน้ำข้างต้นนั้นจะเป็นกฎหมายลูกที่จะออกภายใน 180 วัน ดังนั้นน่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปี 2561 แต่อย่างไรก็ตามอัตราการเก็บค่าน้ำเป็นผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งการจะออกเป็นกฎหมายลูกนั้น ภาครัฐจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้เป็นกังวลว่ารัฐจะไปขูดรีดเก็บเงินจากเกษตรกร” นายวรศาสน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image