คปค. จี้เลือกตั้งบอร์ดสปส. ปฏิรูปกองทุนประกันสังคมภาพรวม  ด้านเลขาฯชี้ยังไร้ระเบียบกกต.

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) กล่าวว่า  ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมกำลังจัดเวทีประชาพิจารณ์เรื่องการปฏิรูปกองทุนบำนาญชราภาพ ซึ่งจัดขึ้น 12 ครั้งทั่วประเทศ  ซึ่งคปค.มองว่า เวทีประชาพิจารณ์ยังไม่ครอบคลุมจริงๆ เนื่องจากทางเครือข่ายแรงงานแทบไม่ได้มีส่วนในการเสนอข้อคิดเห็นมากมาย อย่างการขึ้นเวทีไปพูดก็ไม่ได้รับการอนุญาต ให้เพียงแค่แสดงความคิดเห็นผ่านแบบฟอร์มของสปส. อย่างไรก็ตาม คปค.มองว่า การปฏิรูปจริงๆต้องปฎิรูปทั้งหมด จึงมองว่าในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ คณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) จะหมดวาระลง และจะเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งคล้ายการเลือกตั้งใหญ่ โดยให้ผู้ประกันตนมิสิทธิลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรก แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างหลักเกณฑ์ ซึ่งเรื่องนี้ทางคปค.ได้เคยเสนอแนวทางหนึ่งในการเลือกตั้งที่จะลดงบประมาณได้ประมาณ 500 ล้านบาท

นายมนัส กล่าวว่า ในการเลือกตั้งบอร์ดสปส. จึงถือเป็นอีกทางเลือกเพราะจะทำให้ผู้ประกันตนได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในบอร์ด ได้มีโอกาสพูดถึงปัญหา โดยทางคปค.ได้เสนอแนวทางในการเลือกตั้งใหม่ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไปแล้ว ซึ่งทราบว่าขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของอนุกรรมการยกร่างเกี่ยวกับการเลือกตั้งบอร์ดสปส. ที่จะหมดวาระในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้  โดยแนวทางคือ ให้เลือกผู้ประกันตนแต่ละจังหวัดขึ้นมาในสัดส่วน 150,000 ต่อผู้ประกันตน 1 คน ซึ่งเป็นตัวเลขตามที่เคยมีการเลือกตั้งมาก่อน  ยกตัวอย่าง สมุทรปราการมีผู้ประกันตน 600,000 คน ก็ต้องเลือกตัวแทนมา 3 คน และค่อยมาคัดเลือกในระดับประเทศ เพื่อให้ได้ตัวแทน 7 คน ขณะที่นายจ้างก็เสนอในสัดส่วน 5,000 ต่อ 1 คน โดยจะได้ตัวแทนนายจ้างอีก 7 คน ภาครัฐอีก 7 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งบอร์ดนี้จะมี 21 คน จากเดิมทั้งหมด 15 คน  ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมารอดูว่าทางสปส.จะดำเนินการอย่างไร

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.)   กล่าวว่า บอร์ดปัจจุบันมีส่วนช่วยในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ รวมทั้งปรับแก้กฎหมายเพื่อผู้ประกันตนมากมาย ดังนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับว่าต้องปรับบอร์ดใหม่ ส่วนการจะหมดวาระและเลือกตั้งตามกฎหมายนั้นก็เป็นคนละส่วน ซึ่งก็ต้องดำเนินการ โดยตามกฎหมายสปส. ระบุว่า การเลือกตั้งบอร์ดสปส. ต้องคำนึงถึงผู้ด้อยโอกาส ความเท่าเทียมทางเพศ ขณะนี้ทางสปส.ก็อยู่ระหว่างหลักเกณฑ์ในการเลือกตั้ง แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าต้องมีกฎหมายรองรับ เพราะหากการเลือกตั้งผู้ประกันตนร้องเรียนว่า มีการซื้อเสียง ถามว่าจะใช้กฎหมายใดดูแล ซึ่งสปส.ไม่มี ก็ต้องรอระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ออกมารองรับ

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าทางเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) เสนอแนวทางการเลือกตั้งที่ลดงบได้จากพันกว่าล้านบาทเหลือประมาณ 500- 600 ล้านบาท นพ.สุรเดช กล่าวว่า ต้องมาหารือกันก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่แนวทางต้องอิงกกต.เป็นหลัก ซึ่งจริงๆแล้ว ในส่วนที่อิงกฎหมายทุกอย่างงบจริงๆ ที่จะใช้เลือกตั้งก็จะอยู่ประมาณพันล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกกต. โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ขอยืนยันว่า การเลือกตั้งบอร์ดใหม่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อผู้ประกันตน เพราะไม่ว่าบอร์ดไหนก็ทำงานเพื่อผู้ประกันตนทั้งสิ้น

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการประชาพิจารณ์เรื่องกองทุนบำนาญชราภาพ  นพ.สุรเดช   กล่าวว่า  ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ   โดยยังเหลืออีก 6 ครั้ง จากประชาพิจารณ์ทั้งหมด 12 ครั้ง โดยสำหรับข้อคิดเห็น และแนวคิดที่ได้รับจากการประชุม  สปส.จะนำมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานปรับปรุงการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ ให้เป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ตรงตามความต้องการของสมาชิกกองทุนฯ อย่างแท้จริง และยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุมรับฟัง ความคิดเห็นและแสดงความคิดได้ที่ www.sso.go.th ของสำนักงานประกันสังคม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image