ปลัดกระทรวงวิทย์ฯฝ่าสายฝนนำทีมตะลุยสงขลา เตรียมผลักดันต่อยอดงานวิจัย-นวัตกรรมพื้นที่ภาคใต้

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จ.สงขลา รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาพื้นที่ภาคใต้” ต่อยอดงานวิจัยโครงการต่างๆ ของ วท.พร้อมช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพพื้นที่ภาคใต้ บูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา ขับเคลื่อนพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

รศ.นพ.สรนิตกล่าวว่า สำหรับภาคใต้มีลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่น วัฒนธรรมหลากหลาย มีความท้าทายต่อโจทย์การวิจัยพัฒนาพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมา วท.ได้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ครอบคลุมในหลายพื้นที่ทั้งภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย อันดามัน หรือใต้ชายแดน และยิ่งรัฐบาลให้ความสำคัญการจัดสรรงบประมาณเชิงพื้นที่ การทำงานของ วท.ก็จะเพิ่มความเข้มข้นและพร้อมจะบูรณาการกับทุกหน่วยงานในภูมิภาค

ปลัด วท.กล่าวว่า โครงการและมาตรการสำคัญที่ได้ดำเนินการพื้นที่ในภาคใต้มีหลากหลายโครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.) ระยะที่ 2 เวลา 10 ปี เพื่อบ่มเพาะนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  การก่อสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โครงการสตาร์ตอัพเพื่อพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นให้เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ โดยใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตสินค้าและบริการที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม โครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้มีชุมชนแม่ข่าย 3 ชุมชน และมีเครือข่าย 7 ชุมชน คลินิกเทคโนโลยีเป็นกลไกความร่วมมือระหว่าง วท.กับสถาบันการศึกษาในการนำผลงานวิจัยไปถ่ายทอดสู่ชุมชน ซึ่งภาคใต้มี 20 เครือข่าย 11 จังหวัด หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์ฯ คือหมู่บ้านที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้จนชำนาญ สร้างงาน รายได้ คุณภาพชีวิตต่อเนื่อง การยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ด้วย วิทยาศาสตร์และเทคโลยีมีเป้าหมายให้การสนับสนุน OTOP ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ การพัฒนาเครื่องจักรอุปกรณ์สนับสนุนภาคเกษตร เช่น การพัฒนาระบบการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน หรือการพัฒนาชุดตรวจปริมาณน้ำมันของปาล์มน้ำมันทะลาย เป็นต้น

Advertisement

รศ.นพ.สรนิตกล่าวว่า นอกจากนี้ วท.ยังมีกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการในรูปแบบอื่นๆ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, โครงการ iTAP และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ตั้งเป้าผลักดันผู้ประกอบการ 100 รายในปีแรก วงเงิน 200 ล้านบาท ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทบาทการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโลยีลงสู่ภูมิภาค ในพื้นที่ภาคใต้

“และในโอกาสที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.สงขลา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้จัดทำข้อเสนอแผนงาน/โครงการอีกหลายด้าน ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ภาคใต้ เกิดการบูรณาการร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ตอบรับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ยกระดับภาคใต้และประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” ปลัด วท.กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image