‘ไวรัสลงกระเพาะ’ ระบาดรับปีใหม่ กทม.เตือนคนกรุงเฝ้าระวัง

วันที่ 22 ธันวาคม 2560 นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ด้วยประเทศไทยเริ่มมีสภาพอากาศหนาวเย็นและอาจหนาวต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2561 ในส่วนพื้นที่ของกรุงเทพฯ พบว่าบางพื้นที่เริ่มมีอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ดังนั้น จำเป็นต้องมีวิธีการป้องกัน เฝ้าระวัง ตลอดจนรับมือกับปัญหาโรคและภัยที่แฝงมาในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ 1.โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ สามารถเจ็บป่วยได้ง่ายและบ่อยครั้งมากกว่าปกติถึง 2-3 เท่า โดยในปี 2560 กทม.ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับกลุ่มเสี่ยง 70,000 โดส แต่หากเป็น แนะนำให้ดูแลร่างกายให้อบอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการเหนื่อย หอบ อ่อนเพลียอย่างชัดเจน ให้รีบไปพบแพทย์ด่วน เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดลมอักเสบหรือปอดบวม 2.โรคหลอดลมอักเสบและปอดบวม คือภาวะหลอดลมและปอดอักเสบ สามารถแพร่กระจายเวลาไอ จาม หรือการสำลักน้ำลาย เศษอาหาร และน้ำย่อย โดยมีอาการสำคัญคือ ไข้ ไอ มีเสมหะมาก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อยหอบ ทั้งนี้ โรคปอดบวมมักจะพบในกลุ่มคนชราและเด็กเล็ก และผู้มีโรคประจำตัว หลังจากการเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หากป่วยเป็นโรคนี้อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

นพ.ชวินทร์กล่าวอีกว่า 3.โรคอุจจาระร่วง พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเชื้อโรต้าไวรัส และมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพราะเป็นวัยกำลังเรียนรู้ และชอบหยิบของต่างๆ เข้าปาก โดยเชื้อนี้จะแฝงอยู่ในสิ่งของที่เด็กหยิบจับ อาการสำคัญคือ ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีไข้ และอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งปกติอาการถ่ายเหลวจะหายภายใน 3-7 วัน แต่ยังคงต้องดูแลใกล้ชิด โดยให้ดื่มเกลือแร่ และสังเกตลักษณะของอุจจาระ หากพบว่ามีมูกเลือดปนออกมาควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป และ 4.อุบัติเหตุทางการจราจร ควรระมัดระวังและขับขี่รถอย่างปลอดภัย รักษาวินัยจราจร ห้ามขับรถเร็วเกินกฏหมายกำหนด และเมาไม่ขับ

ขณะที่ นพ.เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า โรคไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ จะพบผู้ป่วยมากในช่วงหน้าหนาว และอีกโรคที่มักเกิดขึ้นมากเช่นเดียวกันคือโรคไวรัสลงกระเพาะ หรือที่เรียกกันว่าไข้หวัดลงกระเพาะ เนื่องจากระยะนี้มีอากาศชื้นจึงทำให้เชื้อโรคชนิดต่างๆ สามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าปกติ โดยจะแฝงอยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น อาหารที่รับประทาน ลูกบิดประตู ราวบันได โดยระยะแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดคือ มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหลหรือไอร่วมด้วย แต่จะมีอาการอาเจียน ที่เป็นอาการเห็นได้ชัด ให้สันนิษฐานว่าเป็นไวรัสลงกระเพาะ ดังนั้น ให้หมั่นดูแลรักษาความสะอาดร่างกายและล้างมืออย่างสม่ำเสมอ

“สำหรับจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 พฤศจิกายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 45,888 ราย โดยในเดือนพฤศจิกายนมีผู้ป่วยไข้หวัดเพียง 150 คนเท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงฝนหยุดตกและอากาศยังไม่หนาว แต่ในเดือนธันวาคม คาดว่าอาจมีแนวโน้มผู้ป่วยไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่มากขึ้น” นพ.เมธิพจน์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image