ดีใจมาก บุปผายังไม่ตาย กรมอุทยานยกย่อง คุณูปการนักวิจัย ล่าสุดพบแบ่งเหยื่อกับลูกสาว

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์สัตว์ป่าในประเทศไทยในปีที่ผ่านมาถือว่าเสือโคร่งถือว่าสถานการณ์ค่อนข้างน่าพอใจที่สุด เพราะในป่าธรรมชาติเพิ่มจำนวนประชากรค่อนข้างดี ที่สำคัญคือ ปริมาณเหยื่อ และที่อยู่ของเสือโคร่งค่อนข้างจะสมบูรณ์ จะเห็นว่าพื้นที่ที่มีเสือโคร่งมากที่สุด คือที่ป่าห้วยขาแข้งนั้น ได้มีการขยายอาณาเขตออกไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียงจำนวนหนึ่ง เช่น ไปยังอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นต้น

“ประเทศไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศในโลก ที่มีเสือในป่าธรรมชาติ และเราก็ได้ขึ้นชื่อว่าดูแลเสือได้ดีเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองมาจากประเทศอินเดีย และรัสเซีย โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่าเราเจอรอยตีนเสือในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งไม่เคยเจอมานานแล้วถือว่าน่ายินดีอย่างยิ่ง เร็วๆนี้เรากำลังจะสร้างทางเชื่อมต่อระหว่างถนนเส้น 304 ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จประชากรเสือโคร่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานก็จะสามารถเดินข้ามไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ โดยพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เวลานี้ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของประชากรเหยื่อของเสือค่อนข้างดีมาก ในอนาคตเชื่อว่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่น่าจะเป็นอีกแหล่งสำคัญการอยู่อาศัยของเสือโคร่ง”นายธัญญา กล่าว

Advertisement

 

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้นั่งคุยกับนักวิจัย โดยได้คุยกันถึงเรื่อง แม่เสือบุปผา เสือโคร่งตัวแรกที่นักวิจัยของกรมอุทยานฯได้เข้าไปศึกษาและเรียนรู้วิถีชีวิตของเสือในป่าธรรมชาติ ตอนนี้แม่เสือบุปผามีอายุถึง 15 ปีแล้ว ถือเป็นเสือที่นักวิจัยรู้จักที่มีอายุยืนที่สุดในประเทศไทยเวลานี้ น่ายินดีว่า เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯซึ่งทำงานอยู่ที่สถานีวิจัยเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพิ่งจะถ่ายรูปแม่เสือบุปผาได้ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

“เร็วๆนี้เราจะเชิญผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านการวิจัยเรื่องเสือโคร่งในประเทศไทย คนทำงานภาคสนาม รวมทั้งเอ็นจีโอ มานั่งคุยกันเรื่องคุณูปการ จากเสือบุปผากับวงการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเวลานี้ถือเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตเสือบุปผาแล้ว และที่ผ่านมาเสือบุปผาได้ทำให้นักวิจัยเรื่องเสือของกรมอุทยานฯได้ความรู้ และได้เรียนรู้อะไรมากมาย”นายธัญญา กล่าว

Advertisement

นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กล่าวว่า ล่าสุดสามารถถ่ายรูปเสือบุปผาด้วยกล้องแคมเมราแท็ปได้แถวซับฟ้าผ่า ใกล้ๆสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ รูปที่เห็นไม่ค่อยชัดนักแต่ก็เห็นว่าบุปผาผอมไปมาก แต่ก็เป็นไปตามอายุขัย เพราะถือว่าตอนนี้เป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตบุปผาแล้ว เป็นเสือที่อายุยืนและแข็งแรงมากที่สุด

“ที่เราติดตามชีวิตบุปผาแต่เริ่มต้น เราเห็นว่าบุปผาเป็นแม่เสือตัวอย่างที่เลี้ยงลูกอย่างน้อย 3 คลอก ไม่ต่ำกว่า 4 ตัว ได้ประสบความสำเร็จเกือบทุกตัว คือ ลูกเสืออยู่รอดปลอดภัยแข็งแรง กรมอุทยานสามารถจับลูกบุปผามาศึกษาพฤติกรรมการดำรงชีวิตได้อีกหลายตัว เอื้อง ชมพู่ สมหญิง ทุกตัวแข็งแรงสมบูรณ์ เป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ดีทั้งหมด ถือเป็นแม่เสือตัวอย่างอย่างแท้จริงและสามารถครอบครองพื้นที่ได้ยาวนานมาก”นายสมโภชน์ กล่าว

หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีเสือโคร่งในป่าธรรมชาติประมาณ 300 ตัว โดยพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งถือว่ามีเสือโคร่งชุกชุมมากที่สุด คือมีประมาณ 70 ตัว ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในโลกเข้าใจว่าจะน่าดีที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ทั้งนี้เสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนเวลานี้มีอยู่ในประเทศไทยที่เดียวเท่านั้น พม่า ลาว เขมร และเวียดนาม ซึ่งเคยมีเสือสายพันธุ์นี้ชุกชุม ตอนนี้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว

นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ถือว่า บุปผาเป็นแม่เสือที่มีอายุยืนที่สุด เพราะเสือหลายๆตัวที่เป็นรุ่นเดียวกับบุปผาเริ่มล้มหายตายจากไปหมดแล้ว แม้รูปถ่ายล่าสุดจะพบว่าเสือบุปผาค่อนข้างอ่อนระโหยโรยแรง แต่ก็ถือว่าเป็นไปตามวัย

“ล่าสุดที่เราเห็นนั้นพบว่า บุบผา ยังแบ่งซากกวางกันกินกับเอื้อง ลูกตัวแรกของตัวเองอยู่เลย ซึ่งปรากฏการณ์แบ่งอาหารกันกินนั้นไม่ค่อยเห็นบ่อยนักในเสือผู้ล่าโดยทั่วไป เพราะปกติแล้ว เมื่อแม่เสือกับลูกเสือแยกกันก็จะอยู่ใครอยู่มัน ไม่ค่อยมายุ่งเกี่ยวกันอีกแล้ว”นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image