มองอนาคตสุขภาพคนไทยปี 2561 กับนโยบายสาธารณสุขที่เปลี่ยนไป

นอกจากของขวัญปีใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขมอบให้แก่ประชาชนคนไทย ทั้งการมุ่งเน้นให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการรู้เท่าทันประเด็นสุขภาพต่างๆ ทั้งแอพพลิเคชั่น RDU รู้เรื่องยาŽ และแอพพลิเคชั่น สมุนไพรเฟิร์ส (Samunprai first) รวมไปถึงการพัฒนาการรักษาพยาบาลแบบผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ ในบางกลุ่มโรค รวมทั้งสิทธิการให้ยาตัวใหม่ในผู้ป่วยเฉพาะ ไม่เพียงแค่นี้! ยังมีประเด็นอื่นๆ ในปี 2561 ที่จะปฏิรูประบบสาธารณสุขในรูปแบบใหม่ที่ส่งผลต่อคนไทยทุกคน

”นอกจากของขวัญปีใหม่ที่มอบให้แก่คนไทย เรายังมีนโยบายด้านสาธารณสุขที่จะนำไปสู่ระบบการบริการด้านสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปโดยอาศัยกลไกประชารัฐ ที่ประชาชนในพื้นที่จะมีส่วนร่วมกับหน่วยบริการ ภาพความแออัด การรอคิวรับการรักษาจะลดน้อยลง เนื่องจากมีการพัฒนารูปแบบการบริการเชิงรุก เน้นส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค จนเกิดคำว่า โรงพยาบาลที่เป็นมากกว่าโรงพยาบาล” นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงนโยบายด้านสาธารณสุขในปี 2561

นพ.ปิยะสกลเล่าว่า จริงๆ แล้วนโยบายสาธารณสุขในปี 2561 เป็นการต่อยอดจากปี 2560 ซึ่งเน้นความเป็นเลิศ 4 ด้าน ไม่ว่าปีไหนก็ต้องดำเนินการ คือ 1.การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค (P&P Excellence) 2.ระบบบริการ (Service Excellence) 3.การพัฒนาคน (People Excellence) 4.ระบบบริหารจัดการ (Governance Excellence) โดยทั้ง 4 ด้านมีการดำเนินการมาแล้ว แต่ในปี 2561 จะเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากปีนี้ สธ.จะมุ่งการดำเนินงานแบบประชารัฐ โดยเน้นการมีส่วนร่วมกับประชาชนมาเป็นกลไกสำคัญในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพให้มีความยั่งยืน และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนจริงๆ

Advertisement

อย่างการลดความแออัดการให้บริการของโรงพยาบาลนั้น มีอยู่หลายด้านที่จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ นพ.ปิยะสกลอธิบายว่า การลดปัญหาการรอคิว ความแออัดในโรงพยาบาลนั้น ส่วนสำคัญคือ การพัฒนาความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิ โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้งด้านการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ ฯลฯ โดยเฉพาะการทำให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพมากขึ้น (health literacy) ประชาชนจะต้องมีความรู้ด้วยตัวเอง และจากบุคลากรด้านสุขภาพลงไปให้ข้อมูล เห็นได้จากของขวัญปีใหม่ มีแอพพลิเคชั่น 2 ตัว เกี่ยวกับการให้ความรู้การใช้ยา และยาสมุนไพรต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนสามารถสืบค้นข้อมูลได้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกัน เราก็มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ประมาณกว่า 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 4 แสนคนมีมือถือสมาร์ทโฟนซึ่งสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ และนำความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดไปยังประชาชน

รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวอีกว่า ในเรื่องความเป็นเลิศด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น ได้กำชับให้ทุกกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งในระดับพื้นที่ คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งมีประมาณ 9,800 แห่ง ถือเป็นด่านแรกที่อยู่ในพื้นที่ต้องทำงานเชิงรุกและทำงานร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ด้านสุขภาพขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าเราจะเน้นแค่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเท่านั้น เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องมีการบริการที่ดีมีประสิทธิภาพด้วย นั่นคือ ความเป็นเลิศด้านระบบบริการ โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผ่าตัดวันเดียวกลับ ซึ่งไม่เพียงลดปัญหาการรอคอยของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้กับผู้ป่วย 12 กลุ่มโรค คือ โรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ โรคถุงน้ำที่อัณฑะ โรคริดสีดวงทวาร ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด โรคเส้นเลือดดำโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ภาวะหลอดอาหารตีบ ภาวะอุดตันของหลอดอาหารจากมะเร็งหลอดอาหาร ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ นิ่วในท่อน้ำดี นิ่วในท่อของตับอ่อน ภาวะท่อน้ำดีตีบ และภาวะท่อตับอ่อนตีบ

Advertisement

”นอกจากนี้ ยังมีระบบสาธารณสุขที่เรียกว่า คลินิกหมอครอบครัว ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการบริการปฐมภูมิ เป็นหัวใจหลักของระบบการบริการสาธารณสุขที่จะเปลี่ยนไปในปี 2561 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ คลินิกหมอครอบครัว เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี 2560 แต่จะชัดเจนขึ้นในปีใหม่นี้เป็นต้นไป โดยคลินิกหมอครอบครัวจะอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ซึ่งคลินิกดังกล่าวจะลดความแออัดการรอคิวของผู้ป่วย ที่สำคัญรูปแบบการบริการปฐมภูมิยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการขับเคลื่อนออกเป็น พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ภายในปี 2561” นพ.ปิยะสกลกล่าว

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ…. จะก่อประโยชน์ต่อประชาชนทั้งการได้รับความรู้ รับการดูแลจากบุคลากรทางด้านสุขภาพ ตั้งแต่ในพื้นที่ ทั้ง อสม. รพ.สต. โดยมีการกำกับจากคลินิกหมอครอบครัว ประกอบด้วยกลุ่มสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นแกน และยังมีพยาบาล ทันตแพทย์ แพทย์แผนไทย กายภาพบำบัด ทีมละประมาณกว่า 10 คน ซึ่งในปี 2561 ทุกครอบครัวในแต่ละพื้นที่จะมีทีมหมอประจำครอบครัวทั่วประเทศ โดย 1 ทีมจะต่อประชากร 10,000 คน โดยทีมหมอครอบครัว 1 ทีม จะสามารถประสานกับคน 10,000 คน ซึ่งอาจมี 3-4 พันครอบครัว โดยติดต่อปัญหาสุขภาพได้ตลอดเวลาทุกที่ผ่านเทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นไลน์

นอกจากนี้ ยังมีแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ยกตัวอย่าง “หมอรู้จักคุณ”  ซึ่งประชาชนที่อยู่ในการดูแลของทีมหมอครอบครัวก็จะมีแอพพลิเคชั่นนี้เหมือนกัน โดยจะสามารถประสานกันได้ทั้งหมด อย่างหากเกิดไม่สบาย บางคนยังไม่รู้ตัวเลยว่าป่วย แต่เมื่อมีแอพพลิเคชั่นนี้ และถ่ายรูปมารวมทั้งแจ้งอาการก็จะทราบข้อมูลได้ โดยเริ่มใช้แล้วที่ จ.พิษณุโลก ซึ่งกำลังพัฒนาต่อไปและจะขยายให้ทั่วประเทศ

”การดำเนินการจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัวนั้น เริ่มตั้งแต่ปี 2559 ขณะนั้นมีเพียง 48 ทีม 16 จังหวัด ต่อมาปี 2560 มี 424 ทีมครอบคลุมทุกจังหวัด และในปี 2561 จะขยายเพิ่มขึ้นอีก 574 ทีม รวมทั้งหมดเป็น 1,170 ทีม นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบสาธารณสุขในระดับพื้นที่ โดยเราจะไม่เน้นแค่การพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาเท่านั้น แต่จะทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพื่อให้คนไทยมีหมอประจำครอบครัวครอบคลุมทั้งประเทศให้ได้”  นพ.ปิยะสกลกล่าว

ปัญหาของการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ยังเกิดความเห็นต่างในบุคลากร รพ.สต. ซึ่งกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะให้อำนาจกับทีมหมอครอบครัว และละเลยบุคลากรใน รพ.สต.หรือไม่ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า เดิมร่าง พ.ร.บ.นี้ ใช้ชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.แพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งจะเป็นแค่แพทย์เท่านั้น ตนมองว่าไม่ได้ จึงต้องเปลี่ยน โดยทุกคนที่ทำงานต้องอยู่ภายใต้ระบบนี้ และทุกคนจะมีหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ประสานกับผู้อี่น โดยจะเป็นระบบใหญ่ที่มีพลังมหาศาล จึงเปลี่ยนเป็นร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต.เป็นตัวหลัก และจะมีทีมหมอครอบครัวเข้าไปเสริม ซึ่งมาจากทั้ง รพช. รพศ. รพท. และขอย้ำว่า ผู้บริหาร รพ.สต.ก็ยังอยู่ที่เดิม ไม่มีหมอมาแทนที่ เพียงแต่มาช่วยเสริมทำงาน แต่ตัวหมอยังคงประจำอยู่ที่ รพช. รพศ. หรือ รพท. เหมือนเดิม

นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ผู้บริหารของ รพ.สต.ยังอยู่ที่เดิม แต่มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยสามารถขึ้นซีได้มากกว่า รพ.สต.ที่ไม่มีทีมหมอครอบครัวเข้ามาร่วมทำงาน ซึ่งจุดนี้จะทำให้มีความก้าวหน้าสูงถึงซี 8 ซึ่งเป็นระดับชำนาญการพิเศษ ทั้งนี้ ขอย้ำว่า การทำงานร่วมกัน ไม่มีใครเป็นใหญ่กว่ากัน ทุกคนต้องร่วมกันทำงานเพื่อให้ระบบเดินหน้า อย่าง รพ.สต.ที่พิษณุโลก ได้เป็น รพ.สต.ติดดาว มีการประสานงานต่างๆ เกิดความร่วมมือ ซึ่งกุญแจสำคัญก็คือตัวผู้อำนวยการต้องรู้จักหน้าที่และบริหารจัดการเป็น โดยอิงประชาชนเป็นหลัก

สิ่งสำคัญต้องอบรมผู้อำนวยการ รพ.สต.กว่า 9 พันแห่ง เพื่อให้สามารถทำงานผ่านกลไกประชารัฐอย่างแท้จริง โดยประชารัฐต้องเกิดทุกระดับ ทั้ง รพ.สต. ทั้ง รพช. และ รพ.ทุกระดับทั้งหมด เรียกว่า เป็น รพ.ประชารัฐ ตัวอย่างชัดเจนสุด คือ รพ.เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หรือ รพ.เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มีทั้งหมด 10 แห่ง อาทิ รพ.พนมดงรัก เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.สุรินทร์ รพ.เบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.ศรีสะเกษ รพ.ยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นราธิวาส เป็นต้น โดยทั้งหมดล้วนอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดรับในพระบรมราชูปถัมภ์ในมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล

”สรุปคือ ปีนี้ สธ.จะมุ่งเน้นประชารัฐ อย่างกรณีคุณตูน บอดี้สแลม ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของประชารัฐ โดยประชาชนเข้ามาช่วย ซึ่งเห็นภาพชัดว่า หากช่วยกันระบบสุขภาพจะอยู่ได้ดีขึ้น แม้ทุกวันนี้จะอยู่ได้แต่ยังไม่ดีพอ เพราะหากหวังพึ่งพาแต่ภาครัฐก็คงไม่ได้ เราต้องร่วมกันหมด อย่างกรณีคุณตูน ก็เกิดกระแสออกมาพูดตัดพ้อตำหนิภาครัฐซึ่งจริงๆ แล้วรัฐช่วยเต็มที่อยู่ เพียงแต่เข้าใจว่าการพูดก็อาจให้เกิดดราม่าขึ้นหรือไม่ ทั้งๆ ที่การที่ประชาชนมาช่วยในการบริจาคหาเครื่องมือทางการแพทย์นั้น จริงๆ มีการทำมานาน อย่างสมัยผมอยู่ รพ.ศิริราช ก็มีคนช่วยมาตั้งนาน ส่วนคนที่ดราม่าว่า รัฐไม่ทำอะไร ก็ต้องถามกลับว่า หากรัฐไม่ทำอะไรจะเกิดระบบสาธารณสุขจนทุกวันนี้ได้อย่างไรกัน”  นพ.ปิยะสกลกล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ.ยังย้ำว่า ประชาชนเข้ามามีส่วนช่วยเหลือกันได้แต่ไม่ใช่ว่า พอมีคนทำดี อีกคนต้องแย่ ต้องถูกเหยียบให้ติดดิน ซึ่งไม่ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพทั้งหมด รัฐบาล ซึ่งทุกรัฐบาลต่างก็ช่วยกันวางแผนและทำจนเกิดความมั่นคงจนถึงทุกวันนี้ และเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นมาศึกษาด้วยซ้ำ ทำไมคนไทยจึงไม่พูดเพื่อให้เกิดกำลังใจ ทั้งที่ทุกคนก็ทำงานหนัก คุณตูนมาทำให้เห็นว่า ประชาชนช่วยได้ ไม่ใช่แค่ว่า รัฐจะทำอะไรให้ฉันบ้าง แต่อย่างที่ตูนทำคือ เราจะทำอะไรเพื่อประเทศบ้าง และคุณตูนคือคนที่ตอบได้ว่า ฉันทำอะไรให้ประเทศไปแล้วบ้าง

ไม่เพียงแต่นโยบายด้านสาธารณสุขที่มุ่งเน้นประชารัฐเป็นหลัก นพ.ปิยะสกลยังแสดงความห่วงใยถึงประเด็นความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุขด้วย โดยระบุว่า ในส่วนความปลอดภัยของ รพ.สต. ที่เคยมีผู้เรียกร้องมานั้น ต้องบอกว่า รพ.สต.เกือบหมื่นแห่ง เราเป็นห่วงตลอด เพราะเราเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ต้องมีความสุข แต่ รพ.สต.อยู่ในพื้นที่ระดับตำบล ทุกคนต้องร่วมกันในการสอดส่องดูแล ประชารัฐจึงต้องเข้ามาร่วมกันในจุดนี้ แต่ไม่ใช่ว่าส่วนกลางละเลย เพราะเราก็ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ แต่กล้องซีซีทีวีอย่างเดียวคงไม่ได้ เรื่องนี้ผู้อำนวยการ รพ.สต.ก็มีส่วนในการบริหารจัดการด้วย

นพ.ปิยะสกลกล่าวอีกว่า ผู้อำนวยการมีหน้าที่ต้องรายงานเข้ามาว่า ระบบไม่ปลอดภัยอย่างไร และเสนอเข้ามาว่าจะต้องทำอย่างไร แต่สิ่งสำคัญต้องบริหารจัดการด้วยตนเองก่อน เพราะเมื่อได้รับตำแหน่งก็ต้องมาพร้อมหน้าที่กับความรับผิดชอบ เราต้องบริหารจัดการก่อน ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องต้องเสนอมาทางผู้บริหารส่วนกลาง ไม่เช่นนั้นจะมีตำแหน่งผู้บริหารในระดับพื้นที่ทำไม ดังนั้น สธ.จึงมีความพยายามขับเคลื่อนเรี่อง การพัฒนาคน (People Excellence) ทุกคนที่ลงไปต้องอยู่ต้องรู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบ และประสานงานกับทุกฝ่ายให้ได้ ซึ่งกลุ่มของ รพ.สต.ก็ต้องมีพลังในการร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และร่วมมือกับส่วนกลางด้วย ซึ่ง รพ.สต.ติดดาว ไม่ได้ติดดาว เพราะประสานกับทางส่วนกลาง กระทรวงสาธารณสุขเก่ง แต่พวกเขาประสานกับ อบต. ท้องถิ่น ประชาชนได้ดี จึงเกิดความร่วมมือในการทำงานมากขึ้นนั่นเอง ซึ่ง รพ.สต.ที่ จ.พิษณุโลก เป็นตัวอย่างที่ดีในการประสานคนในพื้นที่ และยังมีอีกหลายแห่งที่มีการดำเนินการไปแล้ว

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างยั่งยืน ที่เน้นการดูแลสุขภาพและป้องกันโรค เพราะหากสุขภาพดี ภาวะโรคภัยต่างๆ ก็จะลดน้อยลง คุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะดีขึ้น แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตาม…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image