สธ.เตรียมรื้อมาตรการความปลอดภัย รพ.สต. 7 ข้อให้ทันสมัยตามบริบท พร้อมออก 3 ข้อดำเนินการได้ทันที

เมื่อวันที่ 17 มกราคม พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการความปลอดภัยของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ว่า สำหรับมาตรการความปลอดภัย 7 ข้อที่เคยออกไปก่อนหน้านั้น เป็นมาตรการเดิม ซึ่งกำลังสำรวจว่า มีมาตรการใดบ้างใน 7 ข้อที่ต้องปรับแก้ หรือเพิ่มเติมอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะให้ทำมาตรการนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทาง นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีความเป็นห่วงและกำชับมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที คือ 1.เรื่องกริ่ง สัญญาณเตือนภัย ซึ่งจะติดตั้งทุก รพ.สต. โดยให้ไปดูว่ามีที่ใดยังขาดก็ให้ดำเนินการ ซึ่งจะติดตั้งที่บริเวณ รพ.สต. และบ้านพัก รวมทั้งป้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 1,000 แห่งที่ใกล้กับ รพ.สต. และติดตั้งแล้ว
พญ.พรรณพิมลกล่าวอีกว่า 2.ความร่วมมือระหว่างในพื้นที่ ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั้งแกนนำในหมู่บ้านหรือในชุมชน รวมไปถึงจิตอาสาต่างๆ ให้มาทำงานร่วมกันเป็นหูเป็นตาว่า ในพื้นที่ของตนมีภัยอะไร และเกิดเหตุการณ์กี่ครั้ง เพื่อร่วมกันหาทางป้องกัน โดยมีผู้อำนวยการ รพ.สต. เป็นแกนในการประสานทำงาน และ 3.งบประมาณดำเนินการ จริงๆ จะมีในพื้นที่ แต่หากไม่เพียงพอให้ทำเรื่องส่งมายังส่วนกลางพิจารณาความจำเป็นต่อไป

“ขณะนี้ได้มอบหมายว่าแผนดำเนินการ 3 ข้อสามารถทำได้ให้ทำทันที คาดว่าภายใน 1 เดือนน่าจะทราบผลว่า ทำครบหรือไม่ ขาดกี่แห่ง รวมทั้งมาตรการความปลอดภัย 7 ข้อมีข้อไหนที่ทำได้ ข้อไหนทำไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ผู้บริหารกระทรวงฯมีความเป็นห่วงตลอด” รองปลัด สธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามกรณีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีเพิ่ม จะช่วยได้หรือไม่ พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า จริงๆ กล้องซีซีทีวีจะเป็นการป้องปรามมากกว่า แต่การติดตั้งกริ่ง จะช่วยได้มากกว่า เพราะเมื่อเกิดเสียงดังขึ้นก็เหมือนการเป่านกหวีดขอความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าทุกอย่างเราต้องยึดบริบทของความเป็นจริงในพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกันไป

สำหรับมาตรการความปลอดภัย 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/โรงพยาบาลแม่ข่าย จัดให้มีระบบป้องกัน ระบบเตือนภัย เช่น กล้องวงจรปิด กริ่งสัญญาณ เป็นต้น 2.คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ วิเคราะห์พื้นที่เพื่อกำหนดการจัดเวรนอกเวลาราชการ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนตามบริบทของแต่ละพื้นที่ 3.ส่งเสริมการใช้ช่องทาง สายด่วน 1669 ป้ายประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการเข้ารับบริการ รวมทั้งการมาติดต่อนอกเวลาราชการควรมีญาติมาด้วย 4.จัดเจ้าหน้าที่ชายหรือจัดระบบการขึ้นเวรคู่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ จิตอาสา อสม. ญาติ เพื่อนบ้านใกล้เคียงสถานบริการ 5.จัดให้มีระบบเวรยามรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ทั้งนี้ อาจดำเนินการร่วมกับ ภาคีเครือข่าย อบต.เทศบาล ผู้นำ กู้ชีพ กู้ภัย จิตอาสา ตำรวจ เป็นต้น 6.จัดหาป้อมยามชุมชนให้อยู่ใกล้ๆ หรือจัดระบบเชื่อมโยงที่ติดต่อได้ และ 7.สร้างรั้วชุมชน สัมพันธภาพเพื่อนบ้าน

Advertisement

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ และเลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย)กล่าวว่า
มีมาตรการความปลอดภัยแล้ว ขอให้เพิ่มเรื่อง1.มาตรการเยียวยา กองทุนเยียวยาผู้บาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต โดยมีมาตรการเยียวยาหลังเกิดเหตุ และมาตรการระยะยาวแก่ผู้ประสบเหตุและครอบครัว 2.มาตรการเสริมสร้างขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติในพื้นที่กันดาร เช่น สิทธิประโยชน์ ค่าตอบแทนการบรรจุ การเลื่อนระดับ การปรับตำแหน่ง. เพื่อดึงบุคลากรให้อยู่ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อไปและขอให้ทุกมาตรการดำเนินการอย่างเร่งด่วนและทำให้เป็นรูปธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image