กอ.รมน.กทม.ยันไม่มีเอี่ยวรื้อ ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ แค่ดูแลความปลอดภัย(คลิป)

ความคืบหน้าการรื้อย้ายบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ซึ่งหลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีนโยบายให้ชุมชนออกจากพื้นที่ปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสาธารณะ แต่เกิดข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านในชุมชนกับ กทม.ทำให้ยังเหลืออีกไม่กี่ครัวเรือนปักหลักอยู่ในพื้นที่ ขณะที่มีเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร (กอ.รมน.กทม.) เข้าตรึงกำลังในพื้นที่ด้วยนั้น

ล่าสุดเมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 29 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าของบ้านเลขที่ 113 และ บ้านเลขที่ 127/1 ภายในชุมชนป้อมมหากาฬ ได้แจ้งความประสงค์ต่อ กอ.รมน. กทม.ขอย้ายออกจากพื้นที่และรื้อถอนบ้านทั้ง 2 หลัง เพื่อคืนพื้นที่ให้ กทม.ดำเนินการปรับภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะ โดยมีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.กทม.ร่วมอำนวยความสะดวก

เวลา 10.00 น. พ.อ.วิโรจน์ หนองบัวล่าง หัวหน้าฝ่ายข่าว กอ.รมน.กทม. ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่ของภาครัฐเข้าไล่รื้อบ้านในชุมชนป้อมฯ ชาวบ้านเกรงจะเกิดวุ่นวายจึงร้องขอให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.กทม.เข้าช่วยอำนวยความสะดวก

“อย่างไรก็ดี ผมยืนยันได้ว่าเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.กทม. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรื้อย้ายหรือไล่รื้อบ้านเรือนของประชาชนแต่อย่างใด เพียงเข้ามาอำนวยความสะดวกรื้อย้ายบ้านของผู้สมัครใจให้รื้อถอนบ้านเท่านั้น ซึ่งประเด็นการรื้อหรือไม่รื้อบ้านนั้น ขึ้นอยู่กับชาวบ้าน หากมีความประสงค์อยู่ต่อก็เป็นเรื่องของชาวบ้าน แต่หากยินยอมให้รื้อย้าย รายละเอียดต่างๆ กทม.จะเป็นผู้รับผิดชอบว่าจะต้องรื้อบ้านทั้งหมดหรือไม่ อย่างไร แต่ กอ.รมน.กทม.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณารายละเอียดนั้น” พ.อ.วิโรจน์ กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ พ.อ.วิโรจน์ กล่าวถึงสาเหตุที่ กอ.รมน.กทม.เข้าพื้นที่ชุมชนป้อมฯ ว่า เมื่อปี 2560 ได้รับการร้องขอจากนายธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชน ให้เข้าไปดูแลเรื่องความปลอดภัยช่วงพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หลังพบในพื้นที่ชุมชนป้อมฯ มีการจำหน่ายพลุ บั้งไฟ ตะไล หรือวัตถุคล้ายคลึงกัน จากนั้น กอ.รมน.กทม.จึงเข้ามาติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ตัดวงจรการจำหน่ายพลุตามที่ข่าวนำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยสามารถปิดตำนานการขายพลุป้อมมหากาฬ ด้วยการทลายคลังจัดเก็บพลุรายใหญ่น้ำหนัก 200 ตัน บริเวณปากซอยบ้านบาตร ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ปัจจุบันยังเป็นคดีความระหว่างกันที่ สน.สำราญราษฎร์ ส่วนของกลางถูกนำไปจัดเก็บที่ จ.สระบุรี และ จ.นครปฐม

พ.อ.วิโรจน์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการรื้อย้ายบ้าน ปัจจุบันมีบ้านเหลืออยู่ 15 ครัวเรือน ขณะนี้พบว่ามีปัญหาขัดแย้งระหว่างผู้นำชุมชนและคนในชุมชน ซึ่งกลุ่มคนในชุมชนยังได้แจ้งความประสงค์อีกว่าขอให้ดูแลความปลอดภัยและคอยอำนวยความสะดวกประชาชนในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า บ้านที่ยังไม่มีกำหนดรื้อถอนจะทำอย่างไรต่อไป พ.อ.วิโรจน์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีผู้ใดมาหารือ เนื่องจากเป็นเรื่องระหว่าง กทม.กับ ชุมชน ในการเจรจาด้านข้อตกลงและรายละเอียดอื่น ทั้งนี้ ในชุมชนที่ย้ายออกไปแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บางส่วนได้ย้ายกลับถิ่นฐานเดิม บางส่วนที่ยังไม่มีที่พักอาศัยใหม่ได้ให้พักอาศัยชั่วคราวอยู่ที่บ้านอิ่มใจ (อาคารประปาแม้นศรี) ขณะเดียวกัน กอ.รมน.กทม.ได้ประสานกับกรมธนารักษ์ เพื่อขอพื้นที่ในการจัดทำเป็นที่พักอาศัยให้แก่ประชาชน ปัจจุบันได้รับมอบพื้นที่บริเวณสี่แยกเกียกกาย ขนาดพื้นที่รวม 1 แปลง และมีเงื่อนไขต้องใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ ขณะนี้ กอ.รมน.กทม.อยู่ระหว่างรวบรวมผู้ที่ได้รับผลกระทบและยังไม่มีพื้นที่อาศัย ทั้งจากชุมชนองค์การทอผ้า ชุมชนเขียวไข่กา และชุมชนป้อมมหากาฬ รวม 40 หลังคาเรือน เข้าไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้วิธีการของรัฐบาลผ่านกลไกบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (มหาชน) (พอช.) ด้วยการเช่าที่จากราชพัสดุเป็นเวลา 30 ปี ก็จะส่งผลให้ประชาชนมีความมั่นคง

Advertisement

“ข่าวที่ว่า กอ.รมน.กทม. ไปทำการไล่รื้อบ้านของชาวบ้านภายในป้อมมหากาฬ อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
เพราะข้อเท็จจริง ชาวบ้านได้ร้องขอให้ กอ.รมน.กทม.เข้าไปดูแลความปลอดภัย เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงระหว่างคนในชุมชน และวันนี้ชุมชนสมัครใจรื้อย้ายบ้านออกด้วยตนเอง เป็นสิทธิของชาวบ้าน ขณะที่ กอ.รมน.กทม.เต็มใจที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการณ์ ซึ่งพบว่า วันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” พ.อ.วิโรจน์ กล่าวและว่า ในส่วนของการรวบรวมผู้ได้รับผลกระทบจากการรื้อย้ายบ้านนั้น ปัจจุบันมีผู้ติดต่อขอลงทะเบียนแล้วกว่า 20 ราย จากชุมชนทอผ้า และชุมชนเขียวไข่กา และอีก 20 ราย จากชุมชนป้อมมหากาฬ แต่ทุกคนต้องผ่านเงื่อนไขและคุณสมบัติที่ พอช.กำหนด ทั้งนี้ไม่ได้กำหนดเวลาในการรับผู้ได้รับผลกระทบ แต่มีข้อจำกัดว่าบ้านพักอาศัยนั้นมีพื้นที่กำจัด

เมื่อถามอีกว่า สิทธิในการไล่รื้อถอนของชาวบ้านเป็นของใคร พ.อ.วิโรจน์ กล่าวว่า สิทธิดังกล่าวเป็นเรื่องของ กทม.กับชาวบ้านที่มีข้อตกลงหรือประชุมร่วมกัน

ด้านนายธวัชชัย วนาภานุเบศ อายุ 66 ปี เจ้าของบ้านเลขที่113 เปิดเผยว่า อาศัยในชุมชนป้อมฯ มาตั้งแต่ปี 2507 ได้ร่วมต่อสู้กับชุมชนป้อมมหากาฬมานานกว่า 25 ปี วันนี้อยากคืนพื้นที่ให้ กทม.นำไปสร้างเป็นสวนสาธารณะ เพื่อความเจริญของบ้านเมือง

“รู้สึกใจหาย และเสียใจเป็นธรรมดา เพราะอยู่มานาน แต่ผมเต็มใจที่จะย้ายออกจากพื้นที่พร้อมครอบครัว โดยที่ไม่มีใครมาบังคับ ขณะที่ กทม.ได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายบ้านเป็นเงินจำนวนหนึ่ง แต่ได้ฝากอุปกรณ์ ชิ้นส่วนบ้านที่ยังสามารถใช้งานได้ไว้กับ กทม. หากจะใช้เมื่อใดสามารถไปขอรับคืนได้ ขณะนี้ กทม.ได้ให้ผมและครอบครัวเข้าไปพักอาศัยที่อาคารประปาแม้นศรีชั่วคราวก่อน ระหว่างรอบ้านที่กำลังจะสร้างใหม่ที่บริเวณเกียกกาย เมื่อสร้างเสร็จพร้อมย้ายเข้าทันที” นายธวัชชัย กล่าว

ด้านนางภัทริรา รัตนประสาท อายุ 86 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 127/1 กล่าวว่า ได้อาศัยอยู่บ้านดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2498 จากนั้นได้แต่งงานและย้ายไปอยู่กับสามี และให้คนในชุมชนป้อมฯ ที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเข้าอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำข้อตกลงร่วมกับ กทม. และยินยอมให้รื้อย้ายบ้านดังกล่าว โดยให้ผู้อาศัยย้ายออก ซึ่งวันนี้ได้เดินทางไปดูความเรียบร้อยในการรื้อย้ายบ้านด้วยตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image