ซ่อนกลโกง ทุจริตเงินคนจน

เป็นข่าวฉาวโฉ่!! วงการข้าราชการไทยอีกครั้ง กับข่าวทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.)

ซึ่งถือเป็นการ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” ที่สะเทือนใจคนทั้งประเทศ

ซึ่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 52/2561 ให้ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ นายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้ พม.ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง “2 บิ๊กข้าราชการ” ด้วย “ยอมไม่ได้” ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐคอร์รัปชั่น พร้อมย้ำว่า “หากพบการกระทำผิดจริง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับใด จะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด”

เป็นคำสั่ง “เด้งด่วน” ส่งตรงจากสำนักนายกรัฐมนตรี

Advertisement
นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม หากสาวไปถึง “เบื้องลึกเบื้องหลัง” จริงๆ เรื่องนี้ ไม่ได้เริ่มต้นจากที่นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาร้องกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จนนำมาสู่การตรวจสอบทุจริตใหญ่โตอยู่ในขณะนี้

แต่เริ่มตรวจสอบกันลับๆ ต้นตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือด่วนลับมากถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ขณะนั้น เพื่อขอให้ตรวจสอบภายในข้อเท็จจริงการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนประเภทเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ปีงบประมาณ 2560

นายณรงค์ คงคำ

จากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์มอบให้สำนักงานปลัด พม.ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยได้แต่งตั้ง ว่าที่ ร.ต.ศรัณย์ สมานพันธ์ รองปลัด พม.ขณะนั้น เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งสอบทั้งการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ระดับพื้นที่ และผู้บริหารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการช่ายเงินช่วยเหลือคนกลุ่มนี้

Advertisement

ขณะนั้น “นายพุฒิพัฒน์” ดำรงตำแหน่ง “อธิบดี พส.” และ “นายณรงค์” ดำรงตำแหน่ง “รองอธิบดี พส.” ที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการ พม. ตามที่ สตง.แจ้งมา

เส้นทางการก้าวขึ้นเป็นอธิบดี พส.ของนายพุฒิพัฒน์นั้น เริ่มจากปี 2553 เป็นรองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ต่อมาปี 2556 เป็นผู้ตรวจราชการ พม. และเติบโตในหน้าที่การงานมาตลอด โดยได้รับแต่งตั้งเป็น “อธิบดี พส.” ในปี พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นกรมขนาดใหญ่ที่สุดของ พม. อีกทั้งเป็นแคนดิเดตจะขึ้นเป็นปลัด พม.มาหลายครั้ง และมาทำได้สำเร็จใน พ.ศ.2560

บวกลบแล้ว นายพุฒิพัฒน์อยู่ในตำแหน่งอธิบดี พส.เป็นเวลา 3 ปี

ขณะที่นายณรงค์เข้ารับตำแหน่งรองอธิบดี พส.ในปี 2558 ต่อมาปี 2559 เป็นผู้ตรวจราชการ พม. แล้วก้าวขึ้นสู่รองปลัด พม.ในปี 2560

ทั้งนี้ ภายหลังคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงใช้เวลาตรวจสอบ 30 วัน ได้ข้อสรุปว่า พบบางแห่งไม่ดำเนินการตามระเบียบ อาทิ ให้เงินสงเคราะห์โดยที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีการเซ็นชื่อ จึงเห็นสมควรมอบให้กรม พส.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยส่งเป็นหนังสือลับมากให้ พส.ดำเนินการต่อเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560

อย่างไรก็ตาม การสอบสวนดังกล่าวยังไปไม่ถึงขั้นชี้มูลว่า “2 บิ๊กข้าราชการ” ผิดหรือถูกอย่างไร

เพราะ สตง.ไม่มีพยานหลักฐานมาให้ตั้งแต่แรก เนื่องจากได้รับการแจ้งให้ตรวจสอบจากบัตรสนเท่ห์กล่าวหาเท่านั้น

ต่อมา พส.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง สรุปว่ามีมูลตามที่กล่าวหาจริง โดย ผอ.ศูนย์จังหวัดขอนแก่นและหัวหน้าฝ่ายจัดสวัสดิการสังคม กระทำผิดวินัยร้ายแรงและความเสียหายทางละเมิด ขณะที่เจ้าหน้าที่อีก 3 ราย กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง

โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 นางนภา เศรษฐกร อธิบดี พส.คนปัจจุบัน มีคำสั่งย้ายผอ.ศูนย์จังหวัดขอนแก่นและ จนท.ที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ เพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทั้งทางวินัยและทางละเมิด

ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ ได้ดำเนินการกัน “ภายใน” กระทรวง พม.

กระทั่ง เรื่องมา “ดังเปรี้ยง” ฉาวโฉ่ไปทั่วประเทศ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา เมื่อมีนักศึกษาฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น ออกมาแฉว่า ถูกสั่งให้ปลอมลายเซ็นผู้ขอรับความช่วยเหลือกว่า 2,000 คน เป็นเงิน 6-9 ล้านบาท!!!

ซึ่งการออกมาเปิดโปงครั้งนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปสู่จังหวัดอื่นๆ

จากศูนย์ขอนแก่น ป.ป.ท.ยังตรวจสอบศูนย์จังหวัดเชียงใหม่ พบลักษณะความผิดคล้ายๆ กัน ก่อนจะตั้งทีมขยายการตรวจสอบศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่ง ป.ป.ท.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 31 พฤษภาคม 2561

ขณะที่ พม.ก็ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเช่นกัน พบที่กระทำผิดชัดเจนแล้วคือ ศูนย์ขอนแก่น เชียงใหม่ ซึ่งได้มีคำสั่งย้ายผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกมา และตั้งสอบวินัยแล้ว

ส่วนที่ศูนย์จังหวัดอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สตูล ตรวจสอบแล้วไม่ผิดปกติ

ไม่เพียงเท่านั้น การเปิดโปงของนักศึกษาฝึกงานยังส่งแรงกระเพื่อมไปสู่ “การคอร์รัปชั่นเชิงระบบที่ใหญ่มาก” เมื่อโลกออนไลน์ร่วมตรวจสอบและออกมาทยอย “แฉ 2 ผู้บริหาร พม.” เรื่องตั้งคนของตัวเองไปเป็นหัวหน้าหน่วยตามภูมิภาค แล้วเรียกเงินทอนกลับมา 20-50%

ซึ่งถ้านักศึกษา ม.สารคามไม่ออกมาเปิดโปง เรื่องนี้ก็คงจะ “เงียบกริบ” แต่ในกระทรวง พม.

ซึ่ง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย

ทุจริตเงินคนจนคนยากไร้ว่า “สะเทือนใจหนักมาก” แล้ว

แต่ที่ “ปวดใจยิ่งกว่า” คือการออกมาเปิดโปงของ “น้องนักศึกษา” ได้ทำให้ครอบครัวญาติของน้องถูกคุกคาม รวมถึงถูกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางคนตำหนิว่าสร้างความเสื่อมเสียให้สถาบัน

เข้าทำนอง “คนดีไม่มีที่อยู่”

นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและสตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ปัญหาทุจริตในสังคมไทย เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ พอมีคนรุ่นใหม่ ซึ่งไปรู้เห็น แล้วรู้สึกว่าตัวเองเดือดร้อน อยากแก้ไข เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ถือว่าเราได้ของมีค่าทางสังคมมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและน่าปลื้มใจ

“ผู้ใหญ่ที่อยู่ในทั้งระดับมหาวิทยาลัย ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ต้องส่งสัญญาณให้เห็นว่า น้องคนนี้ต้องไม่ถูกกดดัน ต้องไม่ถูกทำให้รู้สึกว่าน้องไม่มีที่ยืนที่ปลอดภัย ต้องไม่ทำให้น้องไม่รู้สึกว่าการพูดความจริง ปกป้องผลประโยชน์ของคนยากจน ทำให้น้องเดือดร้อน จนไม่มีที่จะยืน” นางทิชากล่าว

ซึ่งเป็นข้อน่าห่วงใยของภาพสะท้อนตรรกะของความเป็นครูบาอาจารย์

นับจากนี้ กระบวนการสอบสวนคงจะดำเนินการอย่างเข้มข้นและถูกจับตามองของคนในสังคม

บทสรุปจะเป็นอย่างไร

อย่ากะพริบตา!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image