แกนนำ ต้านเขื่อนวังหีบ ถูกขู่อุ้มเหตุ กลุ่มอิทธิพลหวั่นเสียผลประโยชน์

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นางนงลักษณ์ ผาสุข สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองวังหีบซึ่งร่วมกันคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าขณะนี้มีชาวบ้านได้มาเล่าถึงการถูกเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานข่มขู่โดยระบุว่า หากกระแสข่าวเงียบไปแล้ว แกนนำที่ร่วมกันคัดค้านอาจจะโดนอุ้มเนื่องจากคิดว่าหากเอาตัวแกนนำไปก็จะสามารถผลักดันโครงการสร้างเขื่อนวังหีบได้สำเร็จ โดยผู้ที่มาเล่าเป็นชาวบ้านซึ่งได้รับฟังข่าววงในมาอีกทีและด้วยความหวังดีจึงรีบมาบอกแก่พวกตน

“ปัจจุบันในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีสร้างกระแสเขื่อนวังหีบอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการจ่ายค่าเวนคืน การเข้าพื้นที่ดำเนินโครงการ สร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อน รวมไปถึงมีทหารระดับสูง ใน กอ.รมน.จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการด้วย”นางนางลักษณ์ กล่าว

นางนงลักษณ์กล่าวว่าเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลขอเข้ามาพบชาวบ้านในชุมชน เพื่อสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านกรณีที่นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีว่าการกระเกษตรและสหกรณ์ ลงมาดูพื้นที่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ว่าชาวบ้านมีความคาดหวังอย่างไร ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันยืนยันกับนายวิวัฒน์ว่า จะดำเนินการคัดค้านโครงการเขื่อนต่อไปจนถึงที่สุด เพราะการสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อที่ดินทำกิน ทรัพยากรป่าไม้ที่สมบูรณ์ รวมไปถึงการสร้างเขื่อนวังหีบไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอำเภอทุ่งสงได้

ด้านนายวุฒิชัย แก้วลำหัด สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองวังหีบ กล่าวว่า กระแสข่าวอุ้มแกนนำเริ่มหนาหูขึ้นมาเรื่อยๆ โดยผู้นำท้องถิ่น และตนเองต่างได้รับการเตือนจากผู้ใหญ่หลายคนว่า หากกระแสเรื่องเขื่อนเงียบลง แกนนำคัดค้านเขื่อนอาจถูกอุ้ม เนื่องจากการค้านเขื่อนวังหีบขัดผลประโยชน์ที่ค่อนข้างสูง จึงสร้างความไม่พอใจแก่ผู้มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก

Advertisement

นายวุฒิชัยกล่าวว่าเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชก็ออกข่าวประชาสัมพันธ์ เรื่องการเวนคืนพื้นที่ ขณะเดียวกันได้มีการให้ข่าวของนายทหารนายหนึ่งในกอ.รมน. จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่าประชาชนส่วนน้อยเพียงเท่านั้นที่ออกมาคัดค้าน และชาวบ้านกลุ่มนี้จะต้องเสียสละเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ โดยเขาบอกว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบมีเพียง 40 ครัวเรือน แต่ความจริงมีผู้ได้รับกระทบเกือบ 70 ครัวเรือน จึงมองว่าการออกมาให้ข่าวกับสื่อค่อนข้างบิดเบือนต่อข้อเท็จจริงในพื้นที่ ในขณะที่ชาวบ้านก็ทำได้เพียงติดตามข้อมูลและอธิบายข้อเท็จจริงในเพียงเฟสบุ๊คเท่านั้น เนื่องจากไม่มีพื้นที่สื่อ เช่น ประชาสัมพันธ์จังหวัด

“วันก่อน นายก อบต.คนหนึ่งบอกผมว่า ดีนะ รมช.เกษตร ได้ลงพื้นที่มาก่อน มิเช่นนั้นแกนนำหนึ่งคนโดนอุ้มแน่นอน หลายๆ คนก็เริ่มออกมาเตือน รวมไปถึงมีชาวบ้านที่ได้รับการจ้างวาน 2,000 บาท จากเจ้าหน้ารัฐรายหนึ่ง มาถ่ายภาพบ้านแกนนำ แต่ชาวบ้านที่ถูกจ้างวานไม่ได้กระทำการดังกล่าวและมาแจ้งต่อแกนนำให้รับทราบ”นายวุฒิชัย กล่าว

Advertisement

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า เขื่อนนี้ชาวบ้านคัดค้าน แต่รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) กลับผ่าน ในกระบวนการทำอีไอเอ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้เข้าร่วม แต่คนที่อื่นเข้าร่วมก็มีมติเสนอให้มีการสร้างเขื่อน ทำให้ชาวบ้านต้องยื่นหนังสือถึงทุกหน่วยงาน จนมายื่นกับนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯที่ได้ลงพื้นที่โดยนายวิวัฒน์ได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อศึกษาทางเทคนิคว่าเขื่อนนี้สร้างมาคุ้มค่ากับวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะชาวบ้านยืนยันว่าคลองวังหีบไม่ผ่านกลางเมืองทุ่งสง ดังนั้นที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นแก้ปัญหาน้ำท่วมจึงไม่น่าจะคุ้ม เพราะสามารถกักเก็บน้ำ 20 ล้านลูกบาตรเมตร แต่ต้องใช้งบก่อสร้างถึง 2,600 ล้านบาท และพบว่างบประมาณเพิ่มอีกเท่าตัวเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ที่สำคัญคือโครงการนี้จะส่งกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวบ้านและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยเฉพาะน้ำตกและจุดเล่นน้ำ ที่มีความงดงามไม่ต่างอะไรกับน้ำตกวังตะไคร้ที่จังหวัดนครนายก

ทั้งนี้โครงการเขื่อนวังหีบ ถูกผลักดันโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อช่วงธันวาคม2559 -มกราคม 2560 โดยโครงการก่อสร้างเขื่อน 7 แห่ง พร้อมทั้งขุดคลอง 1 สาย ต่อมามีการประกาศโครงการเขื่อนเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง ใช้งบประมาณรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องเวนคืนบ้านเรือนและที่ทำกินของชาวบ้านมากกว่า 3,000 ครัวเรือน

โครงการเขื่อนวังหีบ ตั้งอยู่ที่ บ้านสระแก้ว หมู่ที่ 1 และบ้านคอกช้าง หมู่ที่ 5 ตำบลนาหลวงเสน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ความจุอ่างเก็บน้ำปกติ 20.10 ล้านลูกบาศก์เมตร วงเงินค่าก่อสร้างโครงการ 2,377.644 ล้าน บาท (เฉพาะตัวเขื่อน 918.85 ล้านบาท) ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) และกำลังมีการและขออนุมัติผลผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532  กรณีการขอใช้พื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 เอ เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน สามารถเข้าใช้พื้นที่สำหรับการก่อสร้างโครงการวังหีบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image